xs
xsm
sm
md
lg

ผวาปลากระชังลอยตายทะเลแปดริ้ว หวั่นกระทบ สวล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา- ชาวบ้านผวาปลากระชังลอยตาย หวั่นส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทำท่องเที่ยวปากอ่าวพัง พร้อมแฉมูลเหตุปลากะพงตายที่แท้จริง ด้านนักวิชาการแนะเก็บซากฝังกลบยันไม่ส่งผลร้ายในระยะยาว หรือติดต่อลุกลามถึงคน

วันนี้ (1 ก.พ.) นายปรีชา สุวรรณ อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 8 ม.1 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพขับเรือรับจ้างนำเที่ยวชมโลมา กล่าวอย่างกังวลใจว่า หลังจากอากาศหนาวเย็นต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนส่งผลกระทบทำให้อุณหภูมิของน้ำในแม่น้ำบางปะกง ลดต่ำลงตามไปด้วย โดยเฉพาะน้ำที่อยู่ลึกจากผิวน้ำลงไปมากจนส่งผลกระทบทำให้ปลากะพงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังลอยตาย

นอกจากนี้ มีผู้เลี้ยงปลาบางราย ทำลายซากปลาตายอย่างมักง่ายด้วยการตักออกจากกระชังแล้วโยนทิ้งลงไปในแม่น้ำบริเวณปากอ่าวจนส่งกลิ่นเหม็นเน่า และลอยกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ จึงหวั่นเกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบทางด้านการท่องเที่ยวล่องเรือชมโลมาที่บริเวณปากอ่าว

ที่ผ่านมา ได้เคยมีนักท่องเที่ยวหลายคนซักถามถึงเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้แล้ว หลังพบซากปลาตายลอยมาตามน้ำจำนวนมาก ซึ่งตนจึงรู้สึกละอายแก่ใจต่อนักเที่ยวที่ภาพเหล่านี้ปรากฏขึ้นต่อสายตาของแขกเหรื่อผู้มาเยือน และนักท่องเที่ยวและยากที่จะตอบคำถามแทนชาวบ้านแถวนี้จึงอยากวิงวอนให้ผู้ที่เลี้ยงปลากระชังบางราย ที่อาศัยความมักง่ายตักปลาทิ้งลงในแม่น้ำ ให้เก็บซากปลาออกมาจากกระชัง และขนย้ายกลับมาฝังกลบจึงน่าจะดูสะอาดตามากกว่า

เรื่องนี้ ทราบว่า ทางผู้บริหารเทศบาลตำบลท่าข้าม คือ นางสมจิตต์พันสุวรรณ เอง ก็รู้สึกเป็นกังวลอยู่เช่นกันและได้เตรียมการที่จะประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้าน เก็บซากปลาที่ลอยตายกลับมาเพื่อฝังกลบ โดยที่เทศบาลจะรับเป็นธุระหาสถานที่ในการกำจัดหรือฝังกลบให้

นายปรีชา กล่าวว่า ขณะที่ นายสุพล สีสมยา อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14/5 ม.1 ต.ท่าข้ามเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ขนาด 20 กระชัง กล่าวว่า สาเหตุที่แท้จริงของปลากะพงที่ตายนั้น หลังจากได้เคยนำซากปลาไปตรวจสอบหาสาเหตุการตาย ยังสถานีเพาะพันธุ์สัตว์น้ำประมงน้ำกร่อย อ.บางปะกง

ผลจากการตรวจสอบปรากฏว่า พบเชื้อรา หรือไรน้ำบางชนิดที่เกิดจากเชื้อปรสิทธิ์ หรือ ปลิงใส ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเข้าไปเกาะอาศัยอยู่ภายในเหงือกปลาจนทำให้ปลากะพงนั้นหายใจเอาออกซิเจนไปใช้ไม่สะดวกจึงขาดอากาศหายใจตายไปในที่สุด

นายปรีชา กล่าวต่ออีกว่า ครั้งแรกเกษตรกรเข้าใจว่า สาเหตุที่ทำให้ปลากระชังตายนั้น มีสาเหตุมาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก แอบปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำแต่หลังจากนำเอาตัวอย่างปลาไปตรวจสอบแล้ว กลับไม่พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ในตัวปลา โดยพบแต่เพียงตัวปลิงใสที่เข้ามาเกาะอาศัยอยู่ในเหงือกปลาเป็นจำนวนมาก และยังทราบอีกว่า ตัวปลิงใสดังกล่าวนี้จะสามารถเจริญเติบโต และแพร่พันธุ์ได้ดีในช่วงที่มีอากาศเย็น จึงทำให้เกิดการระบาดขยายตัวออกไปได้ไกลเป็นวงกว้างในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นนาน ซึ่งปรสิตที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคนแต่อย่างใด

ด้านแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สถานีเพาะพันธุ์สัตว์น้ำประมงน้ำกร่อยระดับปฏิบัติการ ให้ข้อมูลว่า การกำจัดซากปลากะพงที่ถูกต้อง เหมาะสมนั้นควรจะเก็บซากปลามาฝังกลบเพื่อทำลาย แทนการตักทิ้งลงไปในน้ำ เนื่องจากจะเป็นการแพร่กระจายการระบาดของเชื้อให้แพร่ออกไปเป็นบริเวณกว้างมากยิ่งขึ้น

ถึงเชื้อดังกล่าวนี้คือเชื้อของพยาธิชนิดหนึ่งที่มาเกาะอาศัยอยู่กับเหงือกปลา จนทำให้ปลานำเอาอ๊อกซิเยนไปใช้ไม่สะดวก และเกิดความเครียด ไม่กินอาหารจนร่างกายอ่อนแอลง และตายไปในที่สุด ซึ่งเชื้อดังกล่าวนี้ อาจจะไม่เป็นอันตรายต่อคนก็ตามแต่ก็ควรที่จะทำการกำจัดให้ถูกวิธีและเป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์ของเชื้อนี้ด้วย

รวมถึงการทิ้งปลาที่เน่าตายลงไปในแม่น้ำนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมในแง่อื่นซึ่งอาจจะทำให้ลำน้ำดูสกปรก สภาแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวเสียหาย และถ้าหากอุณหภูมิน้ำต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานเชื้อชนิดนี้ก็จะยังคงอยู่ในตัวปลาที่ลอยอยู่ในน้ำและแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว

โดยผู้ที่จะได้รับผลกระทบต่อการระบาดของพยาธิชนิดนี้ ก็จะเป็นกลุ่มเกษตรกรเองโดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงปลาในกระชังอย่างหนาแน่นเป็นจำนวนมาก ส่วนผู้ที่ปล่อยปลาเลี้ยงอย่างเบาบางก็จะมีโอกาสได้รับผลกระทบน้อย ในการแก้ไขปัญหาจึงควรจับแยกปลาในแต่ละกระชังให้มีจำนวนน้อย หรือเบาบางลงอาการลอยตายของปลาก็จะลดลงลงไปด้วยตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังสามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีการนำเอาปลากะพง ซึ่งเป็นปลาน้ำกร่อยไปแช่ลอยในน้ำจืด ก็อาจจะทำให้พยาธิชนิดนี้ ซึ่งเป็นพยาธิน้ำกร่อยและน้ำเค็ม หลุดออกมาจากเหงือกปลาเองได้ ซึ่งคาดว่าประมาณปลายเดือน ก.พ.นี้การระบาดก็จะลดลงตามลำดับ หลังอุณหภูมิสูงขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น