ลำปาง - เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.-ดีเอสไอ ลงพื้นที่ตรวจสอบป่าแม่เมาะแปลง 2 กว่า 2 หมื่นไร่ หลังชาวบ้านร้องรัฐและผู้ว่าฯ ถูกนายทุนฮุบ ทั้งที่ ครม.มีมติตั้งแต่ปี 2528 ให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชาวบ้าน แถมเตรียมออกเอกสารสิทธิต่อ เบื้องต้นผู้ว่าฯสั่งยึดคืนเกลี้ยง
ตลอดบ่ายวันนี้ (21 ม.ค.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.และ นายชาติชาย โทสินธิติ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะ ได้ลงตรวจสอบพื้นที่ป่าแม่เมาะแปลง2 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ 4 ตำบล คือ ตำบลต้นธงชัย ตำบลบ้านเป้า ตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลบ้านเอื้อม ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกเอกชนเข้าปรับพื้นที่ จากเดิมที่เป็นป่ากลายเป็นบ่อดินลูกรัง เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งผู้ที่เข้าทำการขุดและปรับพื้นที่ป่าอ้างว่ามีเอกสารสิทธิที่ได้ซื้อจากชาวบ้านที่อยู่เดิมแล้ว
จนทำให้ นายบุญสม ชุมพูมิ้ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จังหวัดลำปาง พร้อมด้วยกลุ่มชาวบ้านดั้งเดิม รวมตัวยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ รวมถึงยื่นเรื่องไปยังดีเอสไอด้วย เนื่องจากมีหลักฐานว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันรวม 22,400 ไร่ แต่ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวถูกบุกรุก โดยมีเอกชนเข้ามาเป็นเจ้าของขยายพื้นที่ไปถึง 45,000 กว่าไร่ และเอกชนเหล่านั้นกำลังเดินหน้าเพื่อให้รัฐออกเอกสารสิทธิ์เป็นเจ้าของให้ทั้งหมด ซึ่งชาวบ้านไม่เห็นด้วย
จนกระทั่งเช้าวันนี้ นายอธิคม สุพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าประชุมร่วมกันอีกครั้ง โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สรุปประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น โดยให้ทุกภาคส่วนยึดมติ ครม.พ.ศ.2528 ที่ระบุไว้ 3 ส่วน คือ
1. ให้พื้นที่ที่ราษฎรที่ครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เช่า ซึ่งในจังหวัดลำปางไม่มี
2.ที่ดินของมูลนิธิสุขสะอาดปิยะวรรณ อ้างว่า จะนำไปปลูกป่า ครม.มีมติให้เป็นป่าส่วนกลางที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
และ 3.ที่ของ บจก.วนชัย เช่าสัมปทานปลูกอ้อย แต่บริษัทไม่ได้ดำเนินการ ให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ ซึ่งทั้ง 3 ส่วน อยู่ในพื้นที่ป่าแม่เมาะแปลง 2 รวม 22,400 ไร่ และในจำนวนดังกล่าวมีพื้นที่ที่ อบจ.ลำปาง กำลังดำเนินโครงการบ่อกำจัดขยะครบวงจรมูลค่า 700 ล้านบาท รวมอยู่ด้วย ให้ยึดกลับมาเป็นที่สาธารณะที่ชาวบ้านใช้ด้วย โดยให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบพื้นที่รังวัดให้แล้วเสร็จภายใน 29 ก.พ.54 นี้
หากพบว่ามีผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาก็ให้ ดีเอสไอ ดำเนินการ และหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องให้ ป.ป.ท.ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ส่วนที่เกินจากจำนวนดังกล่าวให้รัฐสำรวจและออกเอกสารสิทธิให้ชาวบ้านตามความเป็นจริงต่อไป