อุบลราชธานี- กลุ่มคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี เดินรณรงค์ให้ข้อมูลผลกระทบสารกัมมันตรังสี ซึ่งใช้เป็นพลังงานเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า เรียกร้องให้ นายกฯอภิสิทธิ์ สั่งกระทรวงพลังงาน-กฟผ.เปิดเผยข้อมูลทุกด้าน ก่อนให้ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ตัดสินเลือกอนาคตของตนเอง ไม่ใช่ใช้มติ ครม.ตัดสินเหมือนที่ผ่านมา
วันนี้ (21 ม.ค.) กลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของภาคประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา ประมาณ 500 คน เดินรณรงค์จากหน้าศาลากลางหลังเก่า ไปตามถนนชยางกูร และมาจบที่หน้าศาลากลางหลังใหม่เป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
การณรงค์ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการจำนวนมาก พร้อมชี้ให้เห็นภัยของสารกัมมันตรังสี หากเกิดการรั่วไหล จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตเหมือนกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ของรัสเซีย เมื่อ 24 ปีก่อน ทำให้พันธุกรรมมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงจนผิดรูปร่าง และมีผลต่อสิ่งแวดล้อมไปทั่วทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ
พร้อมทั้งเห็นว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ข้อมูลด้านดีของการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียงด้านเดียว จึงออกมารณรงค์เผยแพร่ข้อมูลให้คนในจังหวัดรับทราบถึงผลกระทบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้รัฐบาลให้ข้อมูลทุกด้านของโรงไฟฟ้า แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกจะเอา หรือไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ใช่ใช้มติ ครม.เป็นเครื่องมือตัดสินอนาคตของคนทั้งจังหวัด
หลังยื่นจดหมายเปิดผนึกกับ พ.อ.ปรีดา บุตราช รองผู้ว่าฯฝ่ายทหาร กลุ่มผู้รณรงค์ได้พากันเผาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำลอง บริเวณหน้าที่ทำการอาคารศาลากลางจังหวัด ก่อนพากันสลายตัวไป
ด้าน น.ส.สดใส สร่างโศก ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงการรวมตัวของภาคประชาชนครั้งนี้ เพราะเกรงผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี มีปัญหาโรงไฟฟ้าปากมูลที่รัฐยังแก้ปัญหาไม่ได้ และการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเรื่องใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าปากมูล จึงต้องการให้ชาวเมืองเป็นผู้ตัดสินอนาคตของตนเอง
การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัด จะทำให้เกิดการแย่งน้ำในภาคเกษตรกรรม เพราะโรงไฟฟ้าต้องใช้น้ำในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวนมหาศาล รวมทั้งทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายระหว่างประชาชนที่สนับสนุนและฝ่ายคัดค้านตามมา