xs
xsm
sm
md
lg

รมช. เกษตร ฯ หนุนเกษตรกรยากจนปลูกยางในพื้นที่ว่างเปล่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตราด - รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมการปลูกยางพาราในภาคอีสาน-เหนือ ส่วนพื้นที่นาควรรักษาเอกลักษณ์ไว้ ขณะที่ปาล์มน้ำมันอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการคัดกรองฯ ส่งเสริมการปลูกตามประกาศของรัฐบาล ส่งเสริมเกษตรกรยากจนปลูกยางในพื้นที่ว่างเปล่า

วันนี้(15 ม.ค.) นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังจากเดินทางมาที่จังหวัดตราด ว่า หากพื้นที่ภาคเหนือและอีสานเริ่มมีการปลูกยางพารามากขึ้น ถือเป็นทางเลือกที่ดีของประชาชน และควรเปิดโอกาสให้มีการปลูก เพราะทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ ไม่มีพื้นที่สวนผลไม้ การปลูกยางพาราจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร แต่จะนำยางพาราไปปลูกในพื้นที่นาไม่ได้ ทั้งนี้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจะมีการพิจารณาให้ปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ก่อนทำการอนุมัติ ส่วนแนวโน้มยางพาราในปีหน้าคาดว่าราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาท

ส่วนพื้นที่การปลูกปาล์มน้ำมัน ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีคณะกรรมการคัดกรองการปลูกปาล์มน้ำมันดูแลอยู่ การส่งเสริมปลูกในพื้นที่ต่างๆ จะมีการประกาศเขต เช่น ที่ จ. ปทุมธานีที่มีการประกาศส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่สวนส้มเก่า ทั้งนี้พื้นที่การปลูกปาล์มและพื้นที่นามีความใกล้เคียงกัน ในอนาคตมีความเป็นห่วงประเทศไทย เพราะเป็นแหล่งผลิตอาหาร ( ข้าว )ที่สำคัญ หากนำพื้นที่นาไปปลูกข้าว อนาคตจะกระทบต่ออาหารอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามควรมีการรักษาเอกลักษณ์ไว้ พื้นที่ปลูกปาล์มต้องเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด
นายศุภชัย โพธิ์สุ กล่าวถึง สถานการณ์ยางพาราว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความกังวลเกี่ยวกับราคายางพาราเพราะราคาในขณะนี้สูงเกินความคาดหมาย สำหรับยางแผ่นขึ้นมาถึง 158 บาท เกษตรกรจึงเริ่มหันมาปลูกยางมากขึ้น สำหรับพื้นที่การปลูกเป็นพื้นที่เฉพาะ ต้องปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม จะนำยางพาราไปปลูกในนาข้าวไม่ได้ ส่วนพื้นที่สวนผลไม้มีความใกล้เคียงกัน แนวโน้มในอนาคตคาดว่าราคาจะลดลง ดังนั้นเกษตรกรควรเลือกปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งให้ดีที่สุด ยางพาราเหมาะจะปลูกในพื้นที่ว่างเปล่าเท่านั้น

ในปี 2554 - 2556 กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการส่งเสริมการปลูกยางในพื้นที่ว่างเปล่าจำนวน 8 แสนไร่ แบ่งเป็นภาคอีสานและภาคเหนือ 5 แสนไร่ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้มีพื้นที่รวม 3 แสนไร่ ซึ่งโครงการนี้จะแตกต่างจากโครงการส่งเสริมปลูกยางในพื้นที่ 1 ล้านไร่ โดยเป็นการส่งเสริมปลูกยางพาราในพื้นที่ใหม่ ส่งเสริมเกษตรกรที่มีความยากจนจริง ๆ และมีพื้นที่ทำกินเป็นของตัวเอง 2 -15 ไร่ ไม่เคยมีสวนยางพารามาก่อน สำหรับที่ดินต้องมีเอกสารสิทธิ์แสดงความเป็นเจ้าของ เพราะจะไม่สนับสนุนให้บุกรุกที่ดินป่าสงวน หรือเป็นที่ดินที่รัฐออกเอกสารสิทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น