สุรินทร์ - ม็อบราษีไศลฟื้นชีพระดม 2 พันคน ได้รับผลกระทบจากการสร้างฝายราษีไศล บุกประท้วงหน้าศาลากลางเมืองช้าง ขอความเป็นธรรมจี้เร่งรับรองจ่ายค่าชดเชยที่ดินทำกินที่ยังมีปัญหา 243 แปลง พร้อมจวกปลัดจังหวัด ไม่จริงใจแก้ปัญหา ขณะทางจังหวัดฯเรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องรับปากเร่งประชุมรับรองเพื่อเสนอครม.อนุมัติจ่ายเงิน ม็อบจึงยอมสลาย
วันนี้ (11 ม.ค.) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มพลังมวลชนสมัชชาลุ่มน้ำมูล (สลม.) และ สมาพันธ์เกษตรกรอีสาน (สพอ.) ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างฝายราษีไศล ในพื้นที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สุรินทร์, ศรีสะเกษ และ จ.ร้อยเอ็ด กว่า 2 พันคน นำโดย นายบุญมี โสภังค์, นางบุรี อาจโยทา แกนนำกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกร อีสาน ได้เดินทางโดยรถยนต์และรถบัส กว่า 200 คัน มารวมตัวชุมนุมกันที่สนามหน้าศาลากลาง จ.สุรินทร์
จากนั้นได้อ่านแถลงการณ์และเรียกร้อง ค่าชดเชยที่ทำกิน และขอความเป็นธรรมจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ โดยระบุว่า คณะทำงานอุทธรณ์พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงร่องรอยการทำประโยชน์ พื้นที่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากฝายราษีไศลตามมติคระรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.43 โดยมี นายประสิทธิ์ บุญลิขิต ปลัดจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานคณะทำงาน จากการแต่งตั้งโดย ผู้ว่าฯ สุรินทร์ นั้น ไม่มีความจริงใจต่อการแก้ปัญหาให้กับประชาชน มีการเลื่อนนัดการประชุมแก้ปัญหามาโดยตลอด
และยังไม่ยอมลงนามรับรองจำนวน 243 แปลงในพื้นที่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ทั้งที่เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ร่วมกับคณะทำงานตัวแทนราษฎร พยายามนำเสนอข้อเท็จจริงผลการตรวจสอบของคณะทำงานอุทธรณ์ ตามอำนาจเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างถูกต้องทุกอย่างแล้ว ยังไม่ได้รับการชดเชยที่ดินทำกินจากผลกระทบการก่อสร้างฝายราษีไศลทั้ง 3 จังหวัดในขณะนี้ ถึง 2,992 แปลง รวม 12,600 ไร่ เป็นเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยให้เกษตรกร 400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้พิจารณาตรวจสอบและอนุมัติชดเชยให้เกษตรกรมาแล้วในหลายพื้นที่ใน 3 จังหวัด ถึง 7 ครั้ง แต่ครั้งนี้ยังคงติดอยู่ในพื้นที่ 243 แปลงที่ยังคงไม่มีการรับรองเพื่อเสนอ ครม.พิจารณา ทั้งที่ก็ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนเหมือนในครั้งที่ผ่านมา
นางบุรี อาจโยทา แกนนำกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกร อีสาน ได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า มีข้าราชการประจำถ่วงปัญหา นับตั้งแต่ พ.ศ.2536 ความเดือดร้อนของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างฝายราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เป็นจำนวนนับหมื่นครอบครัว ผู้เดือดร้อนส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นแล้วอย่างเป็นธรรมตามกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกขั้นตอนตามมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติจ่ายค่าทดแทนที่ดินของราษฎรที่ได้รับผลกระทบฯ ซึ่งเห็นว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาถูกทางแล้ว และแสดงถึงความจริงใจ ต่อการแก้ปัญหา ฝายราษีไศล
แต่ทั้งนี้ ข้าราชการประจำ คือ นายประสิทธิ์ บุญลิขิต ปลัดจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก ผู้ว่าฯสุรินทร์ให้เป็นประธานคณะทำงานอุทธรณ์ จ.สุรินทร์ เพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงร่องรอยการทำประโยชน์ พื้นที่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากฝายราษีไศลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.43 แล้วนำเสนออนุกรรมการระดับจังหวัด โดยมี ผู้ว่าฯ สุรินทร์ เป็นประธาน โดย นายประสิทธิ์ บุญลิขิต ปลัดจังหวัดสุรินทร์ ไม่ตอบสนองนโยบายของรัฐ ไม่ได้ปฏิบัติงานตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจาก ผู้ว่าฯ สุรินทร์
จากพฤติกรรมนัดประชุมวันที่ 14 ต.ค.53 เลื่อนมาเป็นวันที่ 14 ธ.ค.53 และเลื่อนไปเป็นวันที่ 21 ธ.ค.53 จนเลื่อนไปวันที่ 23 ธ.ค.53 อีก ผู้ที่ปฏิบัติงานร่วมกับราษฎร คือ เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน คณะทำงานตัวแทนราษฎร พยายามนำเสนอข้อเท็จจริงผลการตรวจสอบของคณะทำงานอุทธรณ์ ตามอำนาจเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายทุกประการ ซึ่งเคยตรวจสอบ และเคยมีการรับรองข้อมูลข้อเท็จจริง ให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด รับรองเพื่อเสนอกรรมการชุดใหญ่ นำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติจ่ายค่าทดแทนที่ดินเกือบ 2 พันล้านมาแล้ว เหมือนกันทุกขั้นตอน
แต่การอุทธรณ์จำนวน 243 แปลง นายประสิทธิ์ บุญลิขิต ปลัดจังหวัดสุรินทร์ ไม่ลงนามรับรองให้กับราษฎร ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ที่รอคอยมาเป็นเวลา 18 ปี เราจึงเห็นความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาเลือกปฏิบัติไม่รับฟังเหตุผลข้อเท็จจริงคณะทำงานผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ จงใจถ่วงปัญหาให้เกิดความล่าช้า
ดังนั้น กลุ่มพลังมวลชนสมัชชาลุ่มน้ำมูล (สลม.) และสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน (สพอ.) จึงขอเรียกร้องต่อ ผู้ว่าฯ สุรินทร์ ผ่านไปถึงนายกรัฐมนตรี
1.ให้นำข้อมูลคณะทำงานอุทธรณ์ที่เคยรับรองมาแล้วไปตรวจสอบกับราษฎรจำนวน 243 แปลง หากถูกต้องตรงกันขอให้รับรองทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
2.ให้ผู้ว่าฯ สุรินทร์ ทำเรื่องเสนอประธานคณะกรรมการชุดใหญ่ให้มีการประชุมภายในเดือนมกราคม 2554
3.ให้กรมชลประทานแก้ปัญหาปีกขอบเขตอ่างระดับน้ำให้ชัดเจนอย่างเร่งด่วน
4.ขอให้ จ.สุรินทร์ เร่งแก้ไขปัญหาฝายราษีไศลตามมติ ครม.ที่จ่ายมาแล้ว 7 ครั้ง
5.ขอให้คณะทำงานพิจารณาคำคัดค้านอำเภอ (อุทธรณ์)ให้มีการประชุมโดยเร็ว และเมื่อประชุมคณะทำงานพิจารณาคำคัดค้าน (อุทธรณ์) แล้ว ให้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดสุรินทร์ภายใน 3 วัน
ความเดือดร้อน 18 ปี กับการแก้ไขปัญหา 243 แปลง เราหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลและข้าราชการประจำอย่างโปร่งใสถูกต้องตรงไปตรงมา แถลงการณ์ระบุ
ต่อมา นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้มอบหมายให้ นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์, นายประสิทธิ์ บุญลิขิต ปลัดจังหวัด, ตัวแทนชลประธานนครราชสีมา, ชลประทานจังหวัดสุรินทร์ ลงมารับหนังสือพร้อมร่วมประชุมกับ นางบุรี อาจโยทา แกนนำกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกร อีสาน และตัวแทนเกษตรกรที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งทั้งหมดได้รับปากจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องทุกข้อและจะมีการประชุมรับรองในวันที่ 17 ม.ค.และ 25 ม.ค.54 นี้ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไปอย่างเร่งด่วน เกษตรกรรับฟังเหตุผล พอใจและยอม สลายตัว ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนี้ (11 ม.ค.)