xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯตราดแนะชาวสวนปลูกยางเพิ่มหลังมีราคาสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตราด - ผู้ว่าฯตราด เยี่ยมโรงงานยูเนี่ยนรับเบอร์ หลังราคายางแพง สบช่องหนุนปลูกยางเพิ่มแนะชาวสวนผลไม้ ทิ้งเงาะปลูกยาง

วันนี้ (10 ม.ค.) ที่บริษัท ยูเนียนรับเบอร์โปรดักส์คอปอเรชั่น จำกัด บริษัทในเครือสหยูเนี่ยน ผู้ผลิต ซิปวินัส, ยูนิเทป, สายรัดแพมเพอร์ส ฯลฯ นางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายประทีป จงสืบธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายไกรรัฐ พัฒนเพ็ญ อุตสาหกรรมจังหวัดตราด พร้อม นายพิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมและชมขบวนการผลิตยางพาราของบริษัท มีนายสุวิทย์ รอบคอบ กรรมการผู้จัดการบริษัท ต้อนรับและบรรยายสรุปพร้อมนำเยี่ยมโรงงาน

นางสาวเบญจวรรณ กล่าวหลังจากเดินทางชมโรงงานแล้ว ว่า การที่ยางพาราราคาแพง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดตราด จึงอยากเห็นเกษตรกรหันมาปลูกยางพารามากขึ้น โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ เช่น สวนเงาะที่มีปัญหาในเรื่องราคาทุกปี จึงควรหันมาปลูกยางพาราจะเกิดผลดีกว่า ทั้งนี้ ทางจังหวัดจะได้ศึกษาถึงสัดส่วนในการปลูกผลไม้ว่าปลูกเท่าไรจะเกิดผลดีต่อเกษตรกร และจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรในอนาคตด้วย ทั้งนี้ ราคายางพารายังจะมีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงขึ้น

“ที่ให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้มาปลูกยางพารา คงไม่ทำให้จังหวัดตราดสูญเสียเอกลักษณ์ การเป็นเมืองผลไม้ที่มีคุณภาพ แต่ต้องการให้ชาวสวนผลไม้แก้ปัญหาผลไม้บางประเภทที่มีราคาถูกและไม่คุ้มทุนในการผลิต แต่ให้หันมาปลูกยางพาราแทนจะมีรายได้มากกว่าและสถานการณ์ราคายางพาราคงไม่มีแนวโน้มลดลงใน 2-3 ปีนี้ ส่วนการเข้าไปเช่าพื้นที่ในกัมพูชาปลูกยางพาราในจังหวัดเกาะกง หรือ โพธิสัต กัมพูชามีความเป็นไปได้ เพราะปัจจุบันมีการค้าขายที่ทำได้อยู่แล้ว”

นายสุวิทย์ กล่าวว่า บริษัท ยูเนี่ยนรับเบอร์ เป็นบริษัทในเครือสหยูเนี่ยน ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าหลายชนิด และมีบริษัท ในเครือที่ผลิตยางพาราเพื่อผลิตยาง 2 ชนิด คือ ยางแท่ง และยางเบลล์ขาว (PALE) เพื่อป้อนให้โรงงานในเครือที่ผลิตสินค้า ทั้งเทปกาว (ยูนิเทป, ผ้ากาว, สก๊อตเทป) สายรัดผ้าอ้อมอนามัยแพมเพอร์ส เนื่องจากหาวัตถุดิบยาก แม้จะมีเงินซื้อทำให้บริษัท มาตั้งโรงงานที่ จ.ตราด เมื่อปี 2513 และซื้อที่ดินปลูกยางพาราจำนวน 7,200 ไร่ และมีผลไม้อยู่ 2-300 ไร่ ทั้งหมดใช้แรงงานไทยจากภาคอิสานและภาคใต้ ซึ่งทุกคนมีประกันสังคมและมีรายได้จากส่วนแบ่งร้อยละ 30

ปัจจุบันสามารถกรีดยางได้ประมาณ 3,120 ไร่ ได้ผลผลิตจำนวน 700 ตัน/ปี และทั้งหมดจะผลิตเป็นยางแท่งน้ำหนัก 33.33 กิโลกรัม และยางเบลล์ (PALE) ที่เป็นแผ่นบางๆ ที่นำไปทำเทปกาวและเทนโซพลาส

ทั้งนี้ ปัจจุบันรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรด้วยในราคา 130-140 บาท/กิโลกรัม แต่เกษตรกรส่วนใหญ่จะขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่ได้เงินสดทันที ทำให้โรงงานประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในบางครั้ง

ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนผลไม้โดยเฉพาะสวนเงาะ ตัดต้นเงาะนับ 1,000 ไร่ หันมาปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งมีแนวโน้วที่จะเพิ่มขึ้น เพราะราคาเงาะมีราคาถูกและมีปัญหาทุกปี ขณะที่ราคายางพารามีแนวโน้มสูงขึ้น

นอกจากนี้ สินค้าที่ผลิตจากยางพาราที่บริษัทผลิตขึ้น เช่น ยูนิเทป สก๊อตเทป ขึ้นราคามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา 30% เนื่องจากผลผลิตมีราคาสูงขึ้น ส่วนการที่จะไปเช่าที่ดินในกัมพูชาเพื่อปลูกยางพารา เป็นเรื่องดี และทำได้ แต่ต้องดูในเรื่องสถานการณ์การเมืองด้วย

สำหรับ จังหวัดตราด มีพื้นที่ปลูกยางจำนวน 216,117 ไร่ ผลิตยางพาราได้ 50,000 ตัน มีรายได้กว่า 5,000 ล้านบาท/ปี และมีพื้นที่มากเป็นอันดับ 3ในจังหวัดภาคตะวันออก



กำลังโหลดความคิดเห็น