xs
xsm
sm
md
lg

ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังจับรองเท้าหนังหนีภาษีเข้าไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จับรองเท้าหนังจากประเทศจีน สำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จ เข้ามาในราชอาณาจักร โดยผิดกฎหมาย

วันนี้ (5 ม.ค.) ที่ท่าเทียบเรือซี 3 ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี นายยุทธนา หยิมการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้แถลงข่าวกรณีการจับสินค้าสำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผิดกฎหมาย ตามนโยบายของนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมศุลกากร ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงอากร เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า ปกป้องสังคม และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้

การจับกุมครั้งนี้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ A009-0-5312-10048 สำแดงชนิดสินค้าเป็นรองเท้าบุรุษ จำนวน 249 กล่อง ปริมาณ 2,988 คู่ น้ำหนัก 3,112.500 กิโลกรัม ราคา 1,086,036.06 บาท สำแดงเมืองกำเนิด MYANMAR ชำระอากรตามประเภทพิกัด 6403.59.00 อัตรา 0% ใช้สิทธิลดและยกเว้นอากรตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเชียน ( AFTA)

นายยุทธนา กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจสอบอย่างละเอียดของสินค้า พบว่ามีสติกเกอร์ “MADE IN MYANMAR” ติดที่รองเท้าปิดทับข้อความ “MADE IN THAILAND” เพื่ออำพรางให้เข้าใจว่าเมืองกำเนิดเป็นประเทศพม่า โดยข้อความ “MADE IN THAILAND” มีลักษณะยึดติดแน่นกับรองเท้าสินค้าดังกล่าว จึงไม่ได้รับสิทธิลดและยกเว้นอากรตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) แต่อย่างใด

กรณีดังกล่าว ผู้นำเข้าสำแดงเมืองกำเนิดสินค้า เพื่อใช้สิทธิลดและยกเว้นอากรตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ไม่ถูกต้อง มีเจตนาหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร ซึ่งมีความผิดฐานสำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จ ตามาตรา 99, 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ประกอบกับมาตรา 16, 17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 และมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 แง พ.ร.บ. ห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ.2481 จึงต้องจับกุมเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป พร้อมชำระค่าปรับหนึ่งเท่าของค่าภาษีอากร

นายยุทธนา กล่าวต่อไปว่า ในช่วงนี้ทางกรมศุลกากร ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดสินค้าสินเปลืองและสินค้าประเภทผลไม้ เช่น ผลทับทิม ที่นำเข้ามาจากสเปน ,อเมริกา นอกจากนั้นประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งจะหลบเลี่ยงภาษี เพราะการส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือแหลมฉบังนั้น ที่ผ่านมา ปีละ 1 ล้าน 7 แสนตู้ และส่งออกประมาณ 3,000 ล้านตู้ ซึ่งถือว่ามีปริมาณจำนวนมากและต้องเข้มงวดดังกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น