xs
xsm
sm
md
lg

8 เดือนรายได้กรมศุลพุ่ง 7 หมื่นล.ส่งออกนำเข้าเริ่มใช้สิทธิภาษีเอฟทีเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศุลกากรฟุ้งรายได้ 8 เดือน พุ่งเกินเป้ากว่า 7 พันล้านบาท ระบุ ปัญหาแผ่นดินไหวญี่ปุ่นไม่กระทบยอดส่งออกนำเข้า เผย ผู้ประกอบการส่งออกนำเข้าเริ่มใช้สิทธิภาษีเขตการค้าเสรีแล้วถึง 30% ล่าสุด จับมือสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด รับชำระค่าอากรผ่านระบบอัตโนมัติเพิ่มความสะดวกภาคเอกชนและลดการทุจริต

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรเดือนพฤษภาคมสามารถจัดเก็บได้ 7,747 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 967 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดจัดเก็บรวมสะสม 8 เดือนอยู่ที่ 71,799 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการถึง 7 พันล้านบาท โดยกรมศุลกากรได้ประมาณการเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบประมาณอยู่ที่ 99,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นทำให้กรมศุลกากรกังวลว่าจะทำให้ยอดการส่งออกนำเข้าลดลงแต่จากการจัดเก็บจริง พบว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่อย่างใด ซึ่งการส่งออกนำเข้าจากภูมิภาคอื่นเพิ่มขึ้นทดแทนเนื่องจากการขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะประเภทสินค้าทุน รถยนต์ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นสูงมาก

“ตอนนี้นักลงทุนเชื่อมั่นในการขยายตัวของประเทศไทยทำให้ตัวเลขส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้น แม้ว่าการใช้สิทธิพิเศษทางการค้าผ่านเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่มีข้อตกลงกับประเทศต่างๆ จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30% แต่ก็ไม่กระทบกับยอดการจัดเก็บรายได้มากนัก ซึ่งเราเองยังคงปกป้องสินค้าภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมบางส่วนที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีมากนัก” นายประสงค์ กล่าว

นายประสงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้ลงนามความร่วมมือกับธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) SCBT ในการให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์โดยผ่านระบบตัดบัญชีอัตโนมัติของธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็วในการส่งออก นำเข้าและลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการทุจริตด้วยการปลอมแปลงใบส่งออกนำเข้าของนายหน้าได้อีกด้วย

“ตอนนี้ผู้ประกอบการเริ่มหันมาใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบในพิธีการนำเข้าส่งออกมากขึ้นสูงถึง 20.16% ของจำนวนสินค้าที่นำเข้าและส่งออกทั้งหมดหลังจากที่กรมศุลกากรได้ลงนามร่วมกับธนาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น 11 แห่ง โดยตั้งแต่ต้นปีงบประมาณเป็นต้นมามีการใช้บริการด้วยระบบอัตโนมัติถึง 2.8 แสนรายการ คิดเป็นมูลค่าภาษีถึง 5.8 หมื่นล้านบาท” นายประสงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น