xs
xsm
sm
md
lg

ผนึกพลัง 3 ฝ่าย ร่วมลงขันสร้างหุ้นส่วนพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระดมความคิดเห็นการขยายเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชน 16 จังหวัดภาคกลางตอนบนและตะวันตก ร่วมกับ ภาครัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมใจลงขันสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ระบุเป้าหมายวางรากฐานฟื้นระบบหลักประกันความมั่นคงทางด้าน วิถีชีวิต วัฒนธรรม เศรษฐกิจสังคม และการเมืองภาคพลเมือง ยกระดับไปสู่ศูนย์การเรียนรู้สวัสดิการชุมชน

ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2553 เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน 16 จังหวัด ร่วมกับ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. จัดประชุมเชิงปฎิบัตการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานสวัสดิการชุมชนภาคกลางตอนบนและตะวันตก ณ โรงแรมราชศุภมิตร อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีผู้ร่วมงานประมาณ 100 คน

นายศิวโรฒ จิตนิยม คณะกรรมการสวัสดิการชุมชนภาคกลางตอนบนและตะวันตก กล่าวว่า เป้าหมายของการจัดสวัสดิการชุมชนเป็นการวางรากฐานระบบการฟื้นฟูชุมชนให้อยู่ดีมีสุข นำไปสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีชุมชนเป็นแกนหลัก แล้วประสานความร่วมมือการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ และองค์กรชุมชนท้องถิ่น เพื่อเชื่อมโยงการทำงานสามารถต่อยอดไปสู่งานพัฒนาด้านอื่นๆ โดยเฉพาะองค์กรการเงินชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี ยกระดับให้เป็นต้นแบบการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน พัฒนาไปเป็นศูนย์การเรียนรู้สวัสดิการชุมชนแล้ว 16 ศูนย์
เปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชุมชน หน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สำหรับการพัฒนาความเข้มองค์กรสวัสดิการชุมชนภาคกลางตอนบนและตะวันตก มีแผนการดำเนินงานการขยายกองทุน ขยายสมาชิกให้ครอบคลุมชุมชนดูแลกันอย่างทั่วถึงและทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ได้งานอย่างมีคุณภาพอย่างแท้จริง นำไปสู่การบริหารการจัดการที่ดี มีความโปร่งใส เอื้อต่อการจัดสวัสดิการชุมชนอย่างครบวงจรชีวิตดูแลผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ให้เป็นหุ้นส่วนชีวิตด้วยวิธีการทำงานที่หลากหลาย คนในชุมชนมีงานทำ มีอาชีพที่สุจริต ยุติความขัดแย้งของการเมืองท้องถิ่นอยู่ดีมีสุขในบ้านเกิด

แนวคิดการจัดสวัสดิการชุมชนไม่ไช่ตั้งขึ้นเพื่อทดแทนสวสัดิการที่รัฐจัดให้ แต่เป็นเครื่องมือในการดูแลเชื่อมความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง โดยใช้ทุน ขยายฐาน ในชุมชน สร้างพื้นที่ต้นแบบ สร้างองค์ความรู้ การจัดการความรู้ ไปสู่บำนาญของภาคประชาชน เกิดเป็นผู้ให้และผู้รับต้องมีศักดิ์ศรี

คณะกรรมการสวัสดิการชุมชนภาคกลางตอนบนและตะวันตก กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันภาคกลางตอนบนและตะวันตกมีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลไปแล้ว 633 กองทุน ครอบคลุม 4,588 หมู่บ้าน สมาชิก 165,720 คน เงินออมสมาชิกรวม 100,926,453 บาท เงินสมทบจากภาครัฐ 30,568,882 บาท
สานพลังความร่วมมือทุกภาคส่วน
นายชินวุฒิ อาศน์วิเชียร ตัวแทนกองทุนสวัสดิการชุมชน ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ต.ท่างาม เริ่มจัดตั้งกองทุนสวสัดิการชุมชนในปี 2551 เพื่อต้องการช่วยเหลือตนเองก่อนแล้วค่อยแบ่งปันในคนอื่นๆ ต่อไป จนปัจจุบันมีประชาชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการทั้ง 11 หมู่บ้าน มีประชาชนเข้าร่วมเป็นสมาชิกประมาณ 760 คน เงินออมจากสมาชิก 199,905 บาท และรัฐบาลสมทบ 55,000 บาท เงินกองทุนรวมทั้งสิ้น 254,905 บาท

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆในหมู่บ้านขยายไปเป็นระดับตำบลยกระดับนำไปสู่การแลกเรียนเรียนรู้ระดับจังหวัด เน้นการเสริมความคิดด้วยแนวคิดใหม่ๆ จัดตั้งเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัดเคลื่อนการทำงานไปพร้อมกัน สามารถขยายกองทุนขยายสมาชิกอย่างมีคุณภาพ เติมเต็มทักษะการบริการการจัดการงานด้านวิชาการ การจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย อย่างถูกต้อง เกิดความโปร่งใส

ปัจจุบันจังหวัดสิงห์บุรีมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนจำนวน 40 ตำบล ครอบคลุมสมาชิก 11,032 คน เงินออมสมาชิก 8,267,430 บาท เงินสมทบจากรัฐ 2,445,000 บาท

ตัวแทนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม กล่าวต่อไปว่า การทำงานให้ประสบผลสำเร็จและเกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาต่อยอดการทำงานร่วมกัน และอบรมให้สมาชิกเกิดการเรียนรู้ สร้างทักษะการทำงาน เชื่อมประสานหน่วยงานที่มีการจัดสวัสดิการเพื่อเกิดการยอมรับการทำงานอย่างบูรณาการ
ให้ข้อเสนอแนะการจัดสวัสดิการชุมชนโดยตัวแทนหน่วยงานท้องถิ่น
นายปฎิภาณ จูมผา ผู้จัดการสำนักงานปฎิบัติการภาคกลางตอนบนและตะวันตก กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นการจัดความสัมพันธ์งานพัฒนาแบบใหม่ระหว่างชุมชน รัฐ และรัฐท้องถิ่น โดยชุมชนเป็นผู้คิดและวางแผนการพัฒนาชุมชนด้วยตนเองจากฐานรากมีท้องถิ่นให้การหนุนเสริมการทำงานจนเกิดเป็นองค์ความรู้ชุมชน นำไปสู่นโยบายแห่งรัฐจนเกิดการสนับสนุนงบประมาณลงสู่ชุมชน การสร้างวัฒนธรรมการทำงานแนวใหม่นี้ จึงนำไปสู่การหลุดพ้นการทำงานแบบสั่งการจากข้างบนที่ไม่ตรงตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

สวัสดิการชุมชนจึงเป็นการทำงานที่เกิดจากการปฎิบัติจริง ที่ทุกคนได้เห็นคุณค่าของตนเอง ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ เด็ก คนชรา สามารถเข้าร่วมกระบวนการสร้างความมั่นคงชุมชนฐานราก นำไปสู่การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน แก้หนี้นอกระบบ จนเกิดความมั่นคง สร้างชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคต

ประพันธ์ สีดำ
วิวัฒน์ เจนชัย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน .....รายงาน

กำลังโหลดความคิดเห็น