เชียงราย – น้ำโขงใกล้ร้างเรือแล้ว ในที่สุดจีนก็มีคำสั่งกักเรือสินค้าที่สามารถแล่นกลับขึ้นไปถึงจิ่งหงได้ ห้ามแล่นออกจากฝั่งอีก โดยจะปล่อยน้ำให้เรือวิ่งได้อีกครั้งเดือนหน้า
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า หลังจากเจ้าท่าฯ-เขื่อนจีน เปิดประตูเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ปล่อยน้ำลงมาหล่อเลี้ยงสายน้ำโขงให้ระดับน้ำกระเตื้องขึ้นชั่วคราว และช่วยให้เรือสินค้าจีนที่ต้องจอดเทียบท่าริมฝั่งเชียงแสนทั้งหมด ทยอยแล่นทวนน้ำกลับไปให้ถึงเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่อยู่ห่างไปประมาณ 300 กิโลเมตร(กม.)โดยมีเรือเปล่าวิ่งมาจากท่าเรือสบหลวย ประเทศพม่า เพื่อช่วยประคองกันขึ้นไป พร้อมกับลดน้ำหนักบรรทุกสินค้าเหลือไม่เกิน 100 ตันจากเดิมที่เคยบรรทุกกันถึง 2-3 ร้อยตันแล้ว
ล่าสุดทางการจีนก็มีคำสั่งกักเรือสินค้าทุกลำ ที่สามารถกลับไปเทียบท่าที่สิบสองปันนาไว้แล้ว ซึ่งนัยหนึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเดินเรือ - บริษัทประกัน ไม่ให้ถูกปรับ เพราะไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ได้ตามกำหนดสัญญา
นายอภิสิทธิ์ คำภิโล หัวหน้าสถานีขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าปัจจุบันทางการจีนได้มีประกาศกักเรือสินค้าจีนทั้งหมด ที่แล่นเข้าเทียบท่าเรือที่เขตปกครองตนเองสิบสองปันนาไม่ให้แล่นออกจากฝั่งอีก โดยจะมีการกักเรือสินค้าจีนทั้งหมดเอาไว้ แต่ไม่ทราบว่า จีนมีเหตุผลชัดเจนอย่างไร
ทั้งนี้ สันนิษฐานว่าอาจจะถือโอกาสที่แม่น้ำโขงแห้งและเดินเรือได้ยาก ทำการจัดระเบียบเรือหรือตรวจสภาพให้มีความพร้อมในการขนส่งสินค้าเมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตต่อไป การตรวจสภาพของเรือเพื่อให้มีความพร้อมหรือไม่ชำรุดในการเดินเรือจะดำเนินการกันปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นช่วงนี้น่าเหมาะสมที่สุด
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม มีภาคเอกชนที่ชายแดนบางรายระบุว่า ทางการจีนประกาศจะปล่อยให้เรือออกมาแล่นได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2553 เป็นต้นไป ส่วนระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงก่อนวันที่ 14 เมษายน 2553 จะไม่อนุญาตให้ทำการแล่นเรือออกจากท่าเรือได้
นั่นหมายความว่าจะไม่มีเรือสินค้าจากจีนตอนใต้เข้าเทียบท่าเชียงแสน ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงประมาณกลางเดือนเมษายน 2553
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าในปัจจุบันมีเรือสินค้าที่แล่นอยู่ในแม่น้ำโขง ระหว่างท่าเรือเชียงแสนไปยังจีนตอนใต้ประมาณ 100 ลำ ทั้งหมดอาศัยข้อตกลงการเดินพาณิชย์ในแม่น้ำโขง 4 ชาติคือ ไทย สปป.ลาว จีนตอนใต้ และพม่า ในการแล่นเข้าเทียบท่าจำนวน 14 ท่าริมฝั่งโขง โดยจะต้องได้รับการอำนวยความสะดวกจากประเทศต่างๆ ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม กรณีของเมืองท่าสบหลวย ซึ่งอยู่ห่างจาก อ.เชียงแสน ไปทางทิศเหนือประมาณ 195 กิโลเมตร ถือว่าอยู่นอกรายชื่อของเมืองท่าจำนวน 14 แห่งดังกล่าว แต่ก็ยังคงมีการขนส่งสินค้ากันอย่างคึกคัก เพราะจากจุดดังกล่าวสามารถแล่นขนานไปตามแม่น้ำหลวย เพื่อไปยังเนิน 241 ชายแดนจีนตอนใต้-พม่า ขึ้นสู่ถนนไปยังเมืองเชียงรุ่งหรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา หรือเข้าสู่เมืองลา ประเทศพม่า ตรงชายแดนติดกับประเทศจีนได้ด้วย ทั้งนี้ใช้เวลาแล่นเรือจากเชียงแสนขึ้นไปประมาณ 1 วัน สำหรับกรณีที่ประเทศจีนกักเรือสินค้าทั้งหมดเอาไว้แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่งแต่อย่างใด โดยอ้างว่าจีนตอนใต้กำลังประสบปัญหาความแห้งแล้งนั่นเอง