ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เผย “ในหลวง” ทรงเป็นห่วงสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน และภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือ ทรงรับสั่งกองงานส่วนพระองค์ติดตามใกล้ชิด ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เริ่มนำเครื่องบินออกปฏิบัติการวันแรก มุ่งเน้นเพิ่มความชุ่มชื้นบรรเทาความรุนแรงปัญหามลภาวะอากาศภาคเหนือ เน้นพื้นที่เป้าหมายที่กำลังเผชิญปัญหาหนักอย่าง เชียงราย และพะเยา รวมทั้งเชียงใหม่
วันนี้ (11 มี.ค.) ที่กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ได้นำเครื่องบินของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 2 ลำ ออกบินปฏิบัติการทำฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหามลภาวะอากาศหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งวันนี้นับเป็นวันแรกของปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ภาคเหนือ โดยการนำสารฝนหลวงออกบินโปรยที่ความสูงประมาณ 9,000 ฟุต ในพื้นที่ป่าทางด้านตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ หวังผลในการเพิ่มความชื้น ทำให้เกิดกระแสลม และอาจมีฝนตก เพื่อบรรเทาปัญหามลภาวะอากาศ ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน
นายสมชัย เรืองสุทธินฤภาพ ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนืออย่างมาก โดยถึงแม้จะประชวร แต่ยังคงมีรับสั่งกับกองงานส่วนพระองค์ให้ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจะมีการปฏิบัติภารกิจนี้อย่างเข้มแข็งเช่นกันเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นนี้
สำหรับการปฏิบัติการทำฝนหลวงในปีนี้นั้น นายสมชัย ยอมรับว่า ค่อนข้างจะมีปัญหาอุปสรรคมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากความชื้นในอากาศมีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความพยายามในการปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อให้เกิดผลสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าเป็นเป้าหมายเบื้องต้น ตลอดจนทำให้มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย
ในส่วนของการปฏิบัติภารกิจในวันนี้ (11 มี.ค.) ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวว่า มุ่งที่จะบรรเทาปัญหาในพื้นที่ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหามลภาวะอากาศอย่างหนัก ได้แก่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ โดยการออกปฏิบัติการในพื้นที่แนวป่าด้านตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ ก็เพื่อให้ลมในช่วงนี้ที่เป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ช่วยพัดพาเอาความชุ่มชื้นหรือกลุ่มฝนเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้ แม้จะไม่เกิดฝนตกแต่อย่างน้อยจะทำให้เกิดกระแสลมที่ช่วยพัดพาหมอกควันและฝุ่นละอองออกไป ซึ่งช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาลงระดับหนึ่ง
ขณะที่การปฏิบัติการเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนนั้น นายสมชัย กล่าวว่า การปฏิบัติการในช่วงนี้จะมุ่งที่การเพิ่มความชุ่มชื้นและบรรเทาปัญหาหมอกควันไปก่อน ส่วนการปฏิบัติการเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนนั้น น่าจะเริ่มได้ในช่วงใกล้ย่างเข้าสู่ฤดูฝนที่ปริมาณความชื้นในอากาศมีมากกว่านี้ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ หากปฏิบัติการในช่วงที่ความชื้นในอากาศน้อยอย่างในช่วงนี้ ก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จในการทำให้เกิดฝนตกตามเป้าหมาย