xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯธปท.ยันตามล่า 4.6 หมื่นล้านเข้าคลังไม่ยากชี้ทุกบาทอยู่ในระบบ-รอโอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ยันตามเงิน 4.6 หมื่นล้าน “แม้ว” เข้าคลัง ไม่ใช่เรื่องยาก ชี้ทุกบาทอยู่ในระบบอยู่แล้ว เหลือแค่โอนเข้าคลังเท่านั้น พร้อมย้ำเศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการเมือง - มาบตาพุด

วันนี้ (2 มี.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท.) ได้จัดการสัมมนาวิชาการประจำปี 53 เรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติ:แสงสว่างบนความท้าทาย" ณ โรงแรมเลอเมอริเดียนเชียงรายรีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย โดยมี ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องนโยบายการเงินและสถาบันการเงิน จะสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2553 อย่างไร

ดร.ธาริษา ได้เกริ่นนำเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของ ธปท.ในภาพรวม ก่อนจะระบุถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยว่า ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ที่ผ่านมาแล้วเช่นเดียวกับเศรษฐกิจของทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัว โดยสังเกตได้จากอุปสงค์ในประเทศ การนำเข้าและส่งออก ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังเพิ่มขึ้นเร็วมากในหลายภาคเศรษฐกิจ เช่น การเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ฯลฯ

ดร.ธาริษา กล่าวว่า แม้แต่ในภาคสินเชื่อก็ยังฟื้นตัวขึ้น จากเดิมปี 52 ประสบปัญหาติดลบแต่ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมากลับเพิ่มขึ้นแล้วกว่า5.6% ขณะที่ภาครัฐก็มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วทำให้สิ่งที่เคยประมาณการว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาจะโตราว 3.5-5.3% อาจจะมีตัวเลขที่สูงขึ้นกว่านี้ เพราะจะมีการปรับตัวเลขกันในเดือน เม.ย.นี้อีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ไทยก็ยังมีความเสี่ยง เพราะแม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว แต่ก็ยังอยู่ในช่วงฟื้นฟู จึงยังคงเปราะบางอยู่และต้องใช้เวลา ขณะที่การเมืองภายในประเทศก็ยังไม่แน่นอน ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังคงมีอยู่ แต่ก็เชื่อว่าราคาคงจะไม่แพงขึ้นไปกว่าต้นปี 2551รวมทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง

“ปีนี้ทุกอย่างจะผันผวนหมดทั้งเรื่องราคาน้ำมัน หุ้น บรรดาคนเล่นหุ้นต้องเฝ้าติดตาม การไหลเข้าของเม็ดเงินที่จะมีมากขึ้นในภูมิภาคนี้ และไม่ได้มีเฉพาะการไหลเข้า เพราะจะมีการไหลออกด้วยเช่นกัน ดังนั้น ธปท.จึงมีหน้าที่ต้องจะดูแลเรื่องความผันผวนที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าเงิน เป็นต้น" ดร.ธาริษา กล่าวและว่า

หน้าที่หนึ่งของ ธปท.คือการรักษาเสถียรภาพทางการเงินเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคแต่ภาคเอกชน โดยมองว่าการกำหนดค่าเงินต่างๆ ที่ทางภาคเอกชนแนะนำไปยัง ธปท.นั้นไม่สำคัญเท่ากับการรักษาค่าเงินไม่ให้ผันผวน เพราะหากผันผวนจะกระทบกับการคำณวนเรื่องการนำเข้าและส่งออกของภาคเอกชนโดยตรง

“เรามีอุทาหรณ์จากปี 2540 ซึ่งค่าเงินบาทเสียสมดุลอันเกิดจากภาวะฟองสบู่แตกมาแล้ว ดังนั้นจึงเห็นว่าฟองสบู่แตกเป็นเรื่องที่น่ากลัว และทุกฝ่ายให้ความสำคัญด้วยการทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพให้มากที่สุด”

ดร.ธาริษา กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษายึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนักโทษหนีคดีอาญาแผ่นดินจำนวนประมาณ 46,000 ล้านบาทไปแล้วว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวและจริงๆ แล้ว เงินที่ศาลพิพากษายึดส่วนใหญ่อยู่ในระบบธนาคารอยู่แล้ว แม้จะมีอยู่บ้างที่อยู่ในรูปของเงินลงทุนตามกองทุนต่างๆ แต่ก็เกี่ยวโยงกับสถาบันการเงินต่างๆ อยู่

ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องการติดตาม เพื่อนำมาเข้าคลัง ซึ่งตนยืนยันว่ากรณีการติดตามเม็ดเงินจากคดีนี้จะไม่เป็นปัญหา ต่อทั้งรายธนาคารและทั้งระบบสถาบันการเงินของไทย

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวอีกว่า ขั้นตอนต่อไปคือการโอนเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ ดังกล่าวเข้าเงินคงคลังประเทศ ซึ่งผลดีก็คือจะช่วยทำให้การขาดดุลงบประมาณของภาครัฐถูกลบไปด้วยเม็ดเงินส่วนนี้ไปอีกประมาณ 46,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ฐานะการคลังของประเทศดีขึ้น ส่วนผลด้านอื่นๆ คงจะไม่มีผลทั้งทางด้านบวกและด้านลบ เพราะนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับการใช้งบประมาณตามโครงการไทยเข้มแข็งเป็นสำคัญ และเชื่อว่าหากไม่มีเหตุการณ์ภายในประเทศที่รุนแรงนับจากนี้ไปสภาพเศรษฐกิจในภาพรวมก็จะดีขึ้นตามลำดับ

รายงานข่าวแจ้งอีกว่าวันเดียวกัน ธปท.ยังมีการจัดเสวนาโดยมีนายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เสวนาเรื่องโอกาสภาคเอกชนไทยและภาคเหนือ:มุมมองจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหอการค้าไทย ,นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องโอกาสและความท้ายทายของไทยและภาคเหนือจากความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.เรื่องจับกระแสเศรษฐกิจไทยปี 2553

กำลังโหลดความคิดเห็น