ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ”มทภ.2" ยัน “ตาควาย” ของไทยไม่ถูกยึด แต่ยอมรับกองกำลังเขมรติดอาวุธเข้ามาจริง อ้างเพื่อถามความชัดเจนในการเปิดให้ขึ้นชม“ปราสาทตาเมือนธม” ชี้หลังทำความเข้าใจกันได้ก็ถอนกำลังกลับไปด้วยดีทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ระบุ“ตาควาย” อยู่ในแนวเส้นเขตแดนยังไม่ได้เจรจา ทหาร 2 ฝ่ายจึงใช้เป็นจุดประสานงานร่วมกัน ปัดไม่การสร้างกระเช้า-ถนนจ่อแดนไทย เผยเตรียมประชุม อาร์บีซีร่วมกัมพูชา มี.ค.นี้ เพื่อหารือจัดระเบียบ “ช่องสะงำ”
วันนี้ (12 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น.ที่ห้องประชุมอาคารวิบูลย์ศักดิ์ ภายในค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 เปิดเผยถึงสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชาด้านปราสาทตาควาย อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ หลังมีข่าว ทหารกัมพูชาได้เข้ายึด ว่า ไม่เป็นความจริงเพราะพื้นที่ปราสาทตาควายหากหันหน้าไปทางฝั่งกัมพูชาจะอยู่ด้านซ้ายมือของปราสาทตาเมือนขึ้นมาทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 10-12 กิโลเมตร (กม.) จุดนี้ไม่มีถนนที่รถยนต์เข้าไปได้ ต้องใช้การเดินเท้าเพียงอย่างเดียว เราจึงได้กำหนดให้เป็นจุดประสานงานร่วมกันของทหารทั้ง 2 ประเทศเท่านั้น ซึ่งจะมีการนัดพบตามเวลาที่ได้ตกลงกันไว้โดยไม่มีการพกพาอาวุธเข้าไปแต่อย่างใด
โดยเมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) มีกำลังของกัมพูชาส่วนหนึ่งติดอาวุธเข้ามาในฝั่งของเขาไม่ได้เข้ามาในพื้นที่ของไทยแต่อย่างใด ลักษณะเหมือนเข้ามาสอบถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ปราสาทตาเมือนธม ได้มีการปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมจริงหรือไม่ ซึ่งอาจเกิดจากการเข้าใจผิดกันเพราะฝ่ายไทยเราโดยตนในฐานะแม่ทัพภาคที่ 2 ได้ขอให้ฝ่ายกัมพูชาอย่าพานักท่องเที่ยวขึ้นมาเฉพาะในวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมาเท่านั้นเพราะในวันดังกล่าวมีกลุ่มมวลชนของเราขึ้นมาชุมนุม ฉะนั้นผู้ที่เข้ามาในวันนั้นจึงได้บอกไปว่า ของดไว้ก่อนเพราะไม่สะดวกที่จะให้ขึ้นชมและขอให้ขึ้นมาในวันหลัง ซึ่งกำลังของฝ่ายไทยเราที่อยู่ในพื้นที่ก็ยังไม่ได้รับคำสั่งให้ยกเลิก
“จนกระทั่งเมื่อวานนี้ ทางฝ่ายกัมพูชาจึงได้มาประสาน และทางฝ่ายไทยก็ยืนยันว่า เราพร้อมที่จะเปิดให้ขึ้นชมได้ตามข้อตกลงร่วมกัน ตั้งแต่เมื่อวานนี้จึงเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าชมได้ตามปกติ ทางฝ่ายกัมพูชาจึงได้ถอนกำลังและกลับออกจากพื้นที่ไปแล้ว ไม่ได้มีปัญหาหรือเงื่อนไขอะไรเหมือนที่เป็นข่าวเลย”
พล.ท.วีร์วลิต กล่าวว่า ปราสาทตาควายนั้นตั้งอยู่ในแนวเส้นเขตแดนที่ยังไม่ได้เจรจากัน ซึ่งปัญหาการแบ่งเส้นเขตแดนเกิดขึ้นตลอดในจุดที่ตกลงกันยังไม่ได้ แต่ละฝ่ายก็มีการอ้างสิทธิ์ของตัวเองซึ่งมันเป็นผลกระทบไปหมด แต่ในส่วนของปราสาทตาควายฝ่ายไทยเราก็ยืนยันว่าเป็นของไทยเรา แต่ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดหรือเรียกร้องเหมือนกรณีปราสาทพระวิหาร เป็นเพียงแค่ว่าปราสาทหลังหนึ่งอยู่ใกล้กับแนวพรมแดนของทั้ง 2 ประเทศและยังไม่มีการเจรจาในคณะกรรมการปักปันเขตแดน ฉะนั้นเราจึงมีการตกลงร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นของทั้ง 2 ฝ่าย คือ ใช้เป็นจุดประสานงานร่วมกัน
ส่วนกรณีที่ระบุว่า มีการทำกระเช้าเพื่อลำเลียงอาวุธขึ้นมานั้น ก็ไม่เป็นความจริง หากมีการก่อสร้างใด ๆ เราก็จะทำการประท้วงหรือผลักดันไม่ให้ทำ และจุดดังกล่าวก็ไม่ได้สูงชันมากไม่มีความจำเป็น แต่ที่มีกระเช้าก็จะเป็นบริเวณภูมะเขือซึ่งฝ่ายกัมพูชาสร้างขึ้นมาและทำในเขตแดนของเขา เช่นเดียวกันกับถนนก็ไม่มีการก่อสร้างขึ้นมาที่ปราสาทตาควายเช่นกัน มีเพียงการก่อสร้างถนนจากบ้านกู่ ของกัมพูชาขึ้นมาที่ปราสาทตาเมือนธม
“ขอยืนยันว่า ไม่มีกำลังของกัมพูชาเข้ามายึดที่ปราสาทตาควาย ขณะนี้การเจรจาความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพทั้ง 2 ยังมีการพูดคุยกันได้ดีอยู่” พล.ท.วีร์วลิต กล่าว
พล.ท.วีร์วลิต กล่าวอีกว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของฝ่ายกัมพูชาจนถึงขณะนี้ จากรายงานทราบว่า มีการเคลื่อนกำลังกลับหลังจากขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่อารักขาสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเสร็จสิ้นแล้วในช่วงวันที่ 5-10 ก.พ. ขณะนี้ได้มีการกลับเข้าไปในพื้นที่ที่เคยมีการวางกำลังกันอยู่ ไม่มีการขนอาวุธหนักเข้ามาเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ส่วนของไทยก็ไม่ได้มีการเพิ่มเติมกำลังเข้าไป เพียงแต่ได้รับนโยบายว่า ให้ดูแลความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน เพราะฉะนั้นไม่มีการเคลื่อนย้ายกำลังหรือเสริมกำลังแต่อย่างใด เพราะกำลังที่มีอยู่เพียงพอตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้ว
ต่อข้อถามในช่วงนี้จะมีการพบปะกับฝ่ายกัมพูชาเพื่อสานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันหรือไม่ พล.ท.วีร์วลิต กล่าวว่า จากการได้พบปะพูดคุยกับผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ 4 ของฝ่ายกัมพูชาเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมาและได้มอบหมายให้กองเลขาทั้ง 2 ฝ่าย มีการนัดพบพูดคุยระดับอาร์บีซีร่วมกัน คาดว่าจะมีการประชุมในเดือนมี.ค.2553 นี้ ส่วนรายละเอียดในการประชุม วัน เวลาและสถานที่อยู่ระหว่างการเจรจากันอยู่
โดยสาระสำคัญที่จะพูดคุยกันในการประชุมอาร์บีซีครั้งนี้จะพูดคุยถึงการจัดระเบียบที่บริเวณด่านผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชาช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นช่องทางที่มีการค้าขายและประชาชนไปมาหาสู่กันจำนวนมาก แต่ยังขาดความสะดวก เช่น ศุลกากร, ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าจะทำให้บริเวณนี้มีความสะดวกมากขึ้น โดยมีการจัดระเบียบกันใหม่ทั้งหมด
“แต่การจัดระเบียบจะพยายามไม่ให้มีผลกระทบต่อเส้นเขตแดนซึ่งเป็นเรื่องของคณะกรรมการปักปันเขตแดน แต่เราจะจัดระเบียบของช่องสะงำเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนที่จะไปมาหาสู่กัน” พล.ท.วีร์วลิต กล่าว