พิจิตร - ชลประทานทุ่ม 287 ล้าน สร้างฝายยางกั้นแม่น้ำยม ที่พิจิตร มุ่งเป้าทดน้ำยามหน้าแล้งไว้ให้เกษตรกร 2 ฝั่ง กว่า 3 หมื่นไร่ แก้ปัญหาภัยแล้ง ล่าสุดเริ่มลงมือแล้วที่บ้านจระเข้ผอม คาดเสร็จปี 54
วันนี้(5 ก.พ. 53)นายสนิท คันธี หัวหน้ากลุ่มงานก่อสร้าง 2 สำนักงานชลประทานที่ 3 วิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้าง “ฝายหัวงานและอาคารประกอบ” หรือ ฝายเขื่อนยางกั้นแม่น้ำยม บ้านจระเข้ผอม อ.สามง่าม จ.พิจิตร เปิดเผยภายหลังจากที่นำผู้นำชุมชนและสื่อมวลชน ดูความคืบหน้าของการใช้งบไทยเข้มแข็งของรัฐบาลในการก่อสร้าง “ฝายเขื่อนยางสามง่าม” ว่า จากภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำยมของ จ.พิจิตร จนเป็นเหตุให้มีการเรียกร้องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ จ.แพร่ ซึ่งยังเป็นอนาคตอีกยาวไกลและดูเหมือนจะไกลเกินฝัน เนื่องจากมีอุปสรรคหลายปัจจัย
ดังนั้น จึงพิจารณาว่า อ.สามง่าม ซึ่งมีแม่น้ำยมไหลผ่านในยามปกติ เวลาฤดูแล้งสภาพแม่น้ำยมแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามได้ หรือเล่นฟุตบอลในแม่น้ำยมได้เลย แต่พอฤดูฝนก็เกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรและบ้านเรือนราษฎรเสียหายและน้ำที่ไหลหลากก็ถูกระบายปล่อยทิ้งไป
ดังนั้น กรมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ จึงได้เสนอโครงการก่อสร้างฝายเขื่อนยางสามง่ามขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในแม่น้ำยม เพื่อใช้การชลประทานระบายสูบน้ำด้วยไฟฟ้า แจกจ่ายน้ำให้กับเกษตรกรต่อไป ล่าสุดได้มีการสรุปเลือกทำเลที่เหมาะสมและชาวบ้านที่มีการทำเวทีประชาคมแล้ว ว่าเหมาะสมก่อสร้างขึ้นที่ แม่น้ำยมบ้านจระเข้ผอม อ.สามง่าม จ.พิจิตร ประมาณพิกัด 47qpu 319205 ระวาง 5041iv ด้วยงบประมาณ 287 ล้านบาท โดยมีบริษัททิพากร จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างระยะเวลาดำเนินโครงการ 720 วัน เริ่มวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 ถึง 21 มิถุนายน 2554
โดยจะเป็นรูปแบบการสร้างฝายยางขนาดสูง 2.50 เมตร ยาว 74 เมตร ขวางแม่น้ำยม ใช้ระบบปั๊มลมเข้าไปในฝายยางให้พองตัวขึ้นในยามที่ต้องการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่เมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็จะปล่อยลมให้ฝายยางยุบตัวลงระบายน้ำได้ปกติ ซึ่งจะเป็นผลดียามหน้าแล้งให้ชาวตำบลสามง่าม, ตำบลรังนก , กำแพงดิน ของอำเภอสามง่าม พื้นที่ 3 หมื่นไร่ ได้มีน้ำทำนาเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ได้อย่างยั่งยืน ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 30เปอร์เซ็นต์ คาดปี 2554 เสร็จแน่นอนตรงตามสัญญาจ้างดังกล่าว