xs
xsm
sm
md
lg

มทภ.2 เปิด “ฝายชะลอน้ำ” ตามแนวพระราชดำริ - กักเก็บน้ำให้ชาวสุรินทร์ใช้หน้าแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล มทภ.2 เป็นประธานเปิดโครงการฝายชะลอน้ำ ตามลำห้วยตาหัน ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เพื่อกักเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริ ไว้ให้ปชช.ใช้ช่วงหน้าแล้ง
สุรินทร์- “พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์” แม่ทัพภาค 2 เป็นประธานเปิดโครงการฝายชะลอน้ำ ที่กองทัพภาค 2 ร่วมกับ กกล.สุรนารี-ตชด. และ อปท.จัดสร้างฝายตามลำห้วยตาหัน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อกักเก็บน้ำไหลจากเทือกเขาพนมดงรักชายแดนไทย-กัมพูชา ไว้ให้ประชาชนใช้ในด้านการเกษตรช่วงหน้าแล้ง โดยยึดตามแนวทางโครงการตามพระราชดำริของในหลวงเป็นแนวทางปฏิบัติ เผยเตรียมขยายโครงการสู่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลำห้วยตาหัน บ.หนองเกาะ ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ พล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝายชะลอน้ำ ตามลำห้วยตาหัน เพื่อกักเก็บน้ำจากเทือกเขาพนมดงรัก ไว้ให้ประชาชนและเกษตรกร ต. ด่าน อ.กาบเชิง ไว้ใช้เลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกพืชในช่วงหน้าแล้ง ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นโครงการนำร่องการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดน และโครงการตามแนวพระราชดำริ ของกองทัพภาคที่ 2

โดยมี นายปราโมทย์ สัจจรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พล.ต.กนก เนตรคเวสนะ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.สุรนารี) นายอำเภอกาบเชิง ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คณะครูนักเรียน ทหาร ตำรวจและประชาชน เข้าร่วมจำนวนมาก

โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ ดังกล่าว กองทัพภาคที่ 2 ร่วมกับกองกำลังสุรนารี, กรมทหารพรานที่ 26, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ด่าน, องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์ ได้ร่วมกันจัดสรรงบประมาณ และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 26 ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 21 ค่ายสุรินทรภักดี จ.สุรินทร์ จัดสร้างฝายชะลอน้ำ กักน้ำที่ไหลลงสู่ลำห้วยตาหัน ต.ด่าน อ.กาบเชิง ซึ่งต้นน้ำไหลลงมาจากเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา

โดยได้ทำการจัดสร้างฝายชะลอน้ำกักน้ำไว้เป็นระยะๆ รวมระยะทางประมาณ 1,200 เมตร หรือ 1 กิโลเมตร 200 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ชาวบ้านและเกษตรกร บ้านหนองเกาะ และหมู่บ้านใกล้เคียง ในพื้นที่ ต.ด่าน อ.กาบเชิง ได้ใช้ในด้านการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ ในช่วงหน้าแล้งที่จะมาถึง ซึ่งหากไม่มีการทำฝายชะลอน้ำไว้จะทำให้น้ำไหลผ่านลำห้วยลงสู่อ่างน้ำที่อยู่ไกลออกไปอย่างรวดเร็วและทำให้พื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร

การดำเนินการก่อสร้างฝ่ายชะลอน้ำดังกล่าวได้ยึดเอาแนวทางการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ จากโครงการตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการใช้วัสดุการก่อสร้างที่หาได้จากพื้นที่ เน้นการใช้ไม้ไผ่ หิน ปูน และการปรับพื้นที่เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งโครงการสร้างฝายชะลอน้ำแห่งนี้ นับเป็นโครงการแรกของ จ.สุรินทร์ และให้ประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่เมื่อสร้างฝายเสร็จสามารถกักเก็บน้ำให้อยู่ในลำห้วย น้ำไม่ไหลทิ้งหายไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ โครงการสร้างฝายชะลอน้ำของ กองทัพภาคที่ 2 จะขยายพื้นที่ไปสู่จังหวัดอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งของประชาชนต่อไป


นายปราโมทย์ สัจจรักษ์ ผู้ว่าฯ สุรินทร์
บรรดานายอำเภอ จ.สุรินทร์ พื้นที่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา

กำลังโหลดความคิดเห็น