xs
xsm
sm
md
lg

ทล.เปิดห้องแจงแนวถนนรับสะพานโขง 4-ชาวบ้านยืนข้อเสนอยึดแนวเส้นทางเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – ทางหลวงเปิดห้องแจงความเหมาะสมแนวถนน 4 เลนเชื่อมสะพานข้ามโขง 4 ทะลุลาว ครั้งที่ 2 เผยชาวบ้านในพื้นที่เชียงของ ยืนข้อเสนอขยายแนวถนนเดิม หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อีกทาง

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าเมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุมแม่กก สำนักงานแขวงการทางเชียงรายที่ 1 อ.เมือง จ.เชียงราย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้จัดประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 เพื่อศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร เชื่อมโยงเชียงราย-สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ

ทั้งนี้ ได้จัดให้บริษัทที่ปรึกษาประกอบไปด้วยบริษัทไอเอ็มเอ็มเอส จำกัด บริษัทพี.วี.เอส.-95 คอนซัลแต้นซ์ จำกัด ,บริษัทเซเว่น แอสโซซิเอต คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทเอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด สรุปผลการดำเนินการที่ผ่านมาให้ส่วนราชการและประชาชนได้รับทราบและเสนอแนะ โดยมีนายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม

นายธีรพจน์ วราชิต ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นโครงข่ายทางหลวงจากเชียงราย-สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ ซึ่งทางกรมทางหลวง กำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จอย่างช้าปี 2554 นี้ เพื่อเชื่อมกับถนน R3A ใน สปป.ลาว-จีนตอนใต้ อันจะเป็นการพัฒนาตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Great Mekong Sub region หรือ GMS)

ดังนั้นจึงพยายามศึกษาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดและได้คัดเลือกการพัฒนาถนนสี่ช่องจราจรไปตามแนวเส้นทางเดิมก่อน คือจากบ้านหัวดอย ต.ท่าสาย อ.เมือง หรือจุดเริ่มต้นของถนนสาย 1152 ไปยัง ต.ขุนตาล เพื่อต่อกับถนนสาย 1020 สายบ้านต้า-เชียงของ ไปเชื่อมกับการก่อสร้างถนนสี่ช่องจราจรซึ่งกรมทางหลวงได้ก่อสร้างอยู่แล้วตั้งแต่ตัว อ.เชียงของ ลงมาตามถนนสาย 1020 จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 105

ด้านนายโชคพิพัฒน์ เลิศพงศ์อารยะ วิศวกรโครงการ กล่าวว่า ผลการศึกษาที่ได้นำเสนอในการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อเดือน ก.ค.2552 ที่ผ่านมา ใช้ถนนสายเดิมเป็นแนวทางดำเนินการ แต่ได้แบ่งช่วงการศึกษาเพื่อการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจรออกเป็น 6 ช่วง ช่วงที่ 1 บนถนนสาย 1152 ตั้งแต่บ้านหัวดอย- กม.2+790 โดยทับกับถนน 2 ช่องจราจรเดิม ,ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ กม.2+790-กม.11+182 เนื่องจากเป็นทางแคบและผ่านชุมชนจึงแบ่งออกเป็นทางเลือกที่ 2/1 ใช้การขยายถนนสายเดิมระยะทาง 8.392 กิโลเมตร และทางเลือกที่ 2/2 เลี่ยงพื้นที่ชุมชนโดยแยกออกแนวทางเดิมและทำสะพานยาว 600 เมตร ให้ข้าม "หนองหลวง" ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ และวกกลับมาบรรจบกับถนนสายเดิมตรง กม.11+182 รวมระยะทาง 7.183 กิโลเมตร

ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ กม.11+182-กม.17+678 ใช้การขยายถนนสายเดิม ,ช่วงที่ 4 ตั้งแต่ กม.17+678-กม.25+612 แบ่งออกเป็นทางเลือกที่ 4/1 ทับซ้อนไปกับถนนสาย 1152 เดิม ระยะทาง 7.394 กิโลเมตร ทางเลือกที่ 4/2 เลี่ยงชุมชนโดยตัดออกจากแนวเดิมตรง กม.7+678 ตัดผ่านพื้นที่ทางการเกษตรและวกกลับสู่แนวเดิมตรง กม.21+595 ระยะทาง 7.29 กิโลเมตร

ช่วงที่ 5 ตั้งแต่ กม.25+612-กม.29+293 ทับซ้อนกับถนนสายเดิม และช่วงที่ 6 ตั้งแต่ กม.29+293 ของถนนสาย 1152 ไปบรรจบกับ กม.91+163 ถนนสาย 1020 หรือสายเทิง-เชียงของ แต่ช่วงนี้แบ่งออกเป็น 4 ทางเลือกย่อย ได้แก่ทางเลือกที่ 6/1 ทับซ้อนไปกับถนนสายเดิมระยะทาง 30.309 กิโลเมตร ทางเลือกที่ 6/2 เลี่ยงเขตชุมชนโดยเฉพาะตรงชุมชนตลาดบ้านต้า ซึ่งแคบ คดเคี้ยวและมีชุมชนหนาแน่น โดยแยกออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก่อนวกกลับมาตัดถนนสาย 1152 และไปบรรจบกับถนนสาย 1020 ที่ กม.82+415 ต่อไป รวมระยะทาง 29.872 กิโลเมตร

ทางเลือกที่ 6/3 แยกออกจากถนนสายเดิมแต่ขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 27.866 กิโลเมตร และทางเลือกที่ 6/4 ทับซ้อนกับถนนสายเดิมไปจนถึงทางแยกบ้านแม่เปา-บ้านเหล่า และข้ามแม่น้ำอิงจนไปบรรจบกับถนนสาย 1020 ตรง กม.91+163 รวมระยะทาง 21.176 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีช่วงที่ 7 ซึ่งไม่ได้อยู่ในถนนสายเดิมแต่เป็นการขยายเส้นทางสาย อ.เทิง-เชียงของ ตั้งแต่ กม.91+163-กม.105+000 บนถนนสาย 1020

สรุปผลการศึกษาทั้งด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม พบว่า มีปัญหาที่ต้องคัดเลือกเส้นทางที่แบ่งออกเป็นหลายช่วงอยู่ 3 ช่วงคือช่วงที่ 2 ช่วงที่ 4 และช่วงที่ 6 ผลปรากฏว่าคะแนนของทางเลือกที่ 2/2 และทางเลือกที่ 4/2 รวมทั้งทางเลือกที่ 6/4 ได้รับคะแนนสูงสุด จึงเป็นทางเลือกที่จะใช้ในการพิจารณาเพื่อการก่อสร้างต่อไป

ด้านนายอนุรักษ์ ศรีแสวง ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่าที่ผ่านมาได้มีการประชุมใหญ่และจัดประชุมย่อยในพื้นที่รวมทั้งชาวบ้านได้ทำประชาคมไปแล้วหลายครั้งและหลากหลายพื้นที่

ผลปรากฏว่าชาวบ้านหลายพื้นที่ ต้องการให้ทำถนนทับซ้อนไปกับถนนสายเดิม เพราะเชื่อว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องที่ของตัวเอง เช่น ต.เม็งราย อ.พญาเม็งราย ต.ผางาม อ.เวียงชัย ฯลฯ สวนทางกับผลการศึกษาอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงจะมีการลงไปให้ข้อมูลชาวบ้านอีกครั้ง และขั้นตอนต่อไปคือการจัดประชุมครั้งสุดท้ายคือครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลและเสนอให้กรมทางหลวงดำเนินการต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น