เชียงราย – “คมนาคม”ไทยยันไม่มีเปลี่ยนแนวถนนเชื่อมสะพานข้ามโขง 4 ฝั่งลาว แม้ทับที่สัมปทานทุนไทย-เกาหลีใต้ “ซาเล้ง”ย้ำทุกอย่างเดินหน้า เตรียมขอพระบรมราชานุญาตฯเสด็จฯวางศิลาฤกษ์ประมาณเดือนมี.ค.-เม.ย. ด้านรัฐบาลลาวส่ง รมต.ลงพื้นที่ชายแดนริมโขงหาทางเยียวยาโปรเจกต์ยักษ์
นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ASTVผู้จัดการรายวัน” เมื่อครั้งตรวจราชการในจ.เชียงรายเมื่อเร็วๆนี้ ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมมุ่งที่จะให้เชียงรายเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการเชื่อมไทย-จีนตอนใต้ จึงมีหลากหลายโครงการที่เชียงราย ทั้งท่าเรือในแม่น้ำโขงและสะพานแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแห่งที่ 4 รวมทั้งถนนสายต่างๆ อีกหลายสายที่มุ่งสู่โครงข่ายดังกล่าว
สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงซึ่งมีความสำคัญในการเชื่อมกับถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีน หรือระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ปัจจุบันกรมทางหลวงได้เปิดซองประกวดราคาและได้เอกชนที่จะทำการก่อสร้างแล้ว
นายโสภณ กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการส่งมอบพื้นที่ให้แก่กรมทางหลวง เพื่อเปิดให้เอกชนก่อสร้างต่อไป ทั้งนี้ทุกอย่างมีความพร้อมหมดแล้ว และกำลังประสานงานเพื่อจะทำพิธีวางศิลาฤกษ์อย่างเป็นทางการ โดยจะมีการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในการวางศิลาฤกษ์ เพื่อเป็นสิริมงคลและมิ่งขวัญของโครงการและประชาชนทั้งสองฝั่งประเทศต่อไป คาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลายเดือนมีนาคม –ต้นเดือนเมษายน จากนั้นก็เดินหน้าก่อสร้างด้วยงบประมาณที่ไทย-จีน สมทบฝ่ายละ 50%
นายโสภณ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มทุนไทย-เกาหลีใต้ ผู้รับสัมปทานพัฒนาพื้นที่ 1,200 ไร่ในฝั่งเมืองห้วยทราย สปป.ลาว ไม่เห็นด้วยกับแปลนก่อสร้างด่านพรมแดน-แนวถนนเชื่อมต่อฝั่งลาว ที่คร่อมพื้นที่สัมปทานถึง 120 ไร่ ว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งเชื่อว่าสปป.ลาว คงจะเข้าไปจัดการให้เป็นไปตามข้อตกลงในการก่อสร้างโครงการ และไม่กระทบกับระยะเวลาที่ได้วางเอาไว้แล้วแน่นอน
ด้านนายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ดังกล่าว ใช้งบประมาณรวม 1,650 ล้านบาท ปัจจุบันได้มีการเปิดซองประกวดราคาเพื่อจัดหาเอกชนที่ยื่นซองเข้าประกวดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่กลุ่มซีอาร์5-เคที จอยท์เวนเจอร์ กิจการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทไชน่า เรลเวย์ โน.5 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จากจีน-บริษัทกรุงธนเอ็นยิเนียร์ จำกัด จากประเทศไทย จึงยืนยันว่าเมื่อการดำเนินการมาถึงขั้นนี้แล้วเราจะไม่มีการแก้ไขแบบแปลนอีกแล้ว เพราะได้ดำเนินการมาตามขั้นตอนทุกอย่าง
รูปแบบสะพานจะมีความยาวของตัวสะพาน 480 กิโลเมตร แต่จะมีถนนฝั่งไทยอีก 150 กิโลเมตร ฝั่ง สปป.ลาว 6 กิโลเมตร ตัวสะพานออกแบบให้มีสองช่องจราจรไปและกลับกว้าง 14.7 เมตร และมีไหล่ทางกว้าง 1.25 เมตร ฯลฯ
นายวีระ กล่าวอีกว่า กรมทางหลวงจะไม่แก้ไขตามที่บางกลุ่มทุนเสนอให้ตัดถนนใหม่ อ้อมด้านหลังพื้นที่ของตัวเอง เพราะถือเป็นเรื่องในฝั่ง สปป.ลาว เอง เราคงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าสำหรับเอกชนซึ่งเป็นกลุ่มทุนไทย-เกาหลีใต้ ดังกล่าวคือบริษัทเอเอซี กรีน ซิตี้ ลาว จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานระยะเวลา 40 ปี เพื่อดำเนินโครงการ "นาคราชนคร" บนเนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ตั้งแต่กลางปี 2550 โดยบริษัทตั้งเป้าลงทุนประมาณ 1,320 ล้านบาท เพื่อสร้างแหล่งพักผ่อนและเอนเตอร์เทนเมนต์ ทั้งโรงแรมหรูขนาด 120 ห้อง พร้อมกาสิโน สนามกอล์ฟ รีสอร์ต กิจการเกษตรและประมง ฯลฯ
หลังเกิดเหตุกรณีแบบแปลนของกรมทางหลวง คร่อมพื้นที่สัมปทาน ทำให้บริษัทนี้ได้เข้าไปร้องเรียนต่อรัฐบาล สปป.ลาว อย่างต่อเนื่องเพื่อขอให้มีการเปลี่ยนแบบแปลนให้ถนนอ้อมด้านหลังโครงการ ซึ่งใช้ระยะทางไกลออกไปอีกประมาณ 500 เมตร ล่าสุดมีรายงานว่า รมว.กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ได้เดินเดินทางไปดูสภาพปัญหาของพื้นที่เพื่อหาทางแก้ไขแล้ว