กาญจนบุรี - ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เปิดงานวันรณรงค์การจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่กาญจนบุรี
เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (27 ม.ค.53) นายธรรมรัต หวั่งหลี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์การจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ที่บริเวณ หมู่ 10 บ้านหนองมะสังข์ ต.หนองประดู่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี โดยมีนายพิพัฒน์ ศังขะฤกษ์ ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี นายอัคนีวุธ กลับน่วม เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี หน่วยงานราชการ และประชาชนชาวไร่มันสำปะหลังกว่า 1,000 คน ให้การต้อนรับ
นายธรรมรัต หวั่งหลี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เสี่ยงทั้งเรื่องของราคาตกต่ำ รวมทั้งภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง และแมลงศัตรูพืชระบาด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่เกษตรกรเองสามารถป้องกันและเตรียมการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ และสิ่งเหล่านี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามหามาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมมาดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงในด้านต่างๆอยู่ตลอดเวลา
เช่น ในด้านความเสี่ยงของราคา รัฐบาลก็ได้มีการประกันรายได้ สำหรับพืชเศรษฐกิจสำคัญ 3 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ส่วนในด้านอุทกภัยและภัยแล้ง รัฐบาลโดยธนาคารเพื่อการเกษตร ได้มีโครงการนำร่องประกันภัยแล้งสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้มีการศึกษารูปแบบการประกันอุทกภัยและภัยระบาดในนาข้าว และเพลี้ยแป้งที่ระบาดในไร่นาสำปะหลัง ซึ่งเป็นที่มาของการจัดงานวันรณรงค์การจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ขึ้นในวันนี้
โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ มีภารกิจที่จะต้องรับผิดชอบ เช่น เมื่อได้รับแจ้งจากเกษตรกรว่าเกิดโรคระบาดเมื่อไหร่ จะต้องรีบเข้าไปในพื้นที่นั้นๆในทันที ศึกษาค้นคว้าวิจัยพันธุ์ที่ต้านทานโรค แมลงและเทคนิคในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชซึ่งจะมีวิวัฒนาการใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ วิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างแบบจำลอง หรือวิธีการพยากรณ์เพื่อเตือนภัยให้เกษตรกรรับรู่อย่างรวดเร็ว และเผยแพร่ถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ ให้เกษตรกรนำไปปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนเกษตรกรเองนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมันสำปะหลังซึ่งกระทรวงเกษตรได้มอบหมายให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติ 5 ต.คือ 1. เตรียมดินให้ดี 2. เตรียมพันธุ์ที่ดี 3. ตัดตอนวัชพืชในแปลงปลูก 4. เตรียมความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน เช่น ใส่ปุ๋ย ปลูกพืชตระกูลถั่วปรับปรุงบำรุงดิน และ 5. เตรียมเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม