ตาก- พ่อเมืองตาก ประชุมแกนนำเกษตรกร 400 คน 5 อำเภอ ชายแดนไทย-พม่า ตามโครงการประกันราคาผลิตผลการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล-เกษตรกรพบพระ ยื่นขอเพิ่มวงเงินและจำนวนประกัน
รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า วันนี้ (20 ต.ค.) นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานการประชุมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดตาก ที่หอประชุมเทศบาลเมืองแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีแกนนำกลุ่มเกษตรกรกว่า 400 คน จากพื้นที่ปลูกข้าวโพด จาก 5 อำเภอชายแดนไทย-พม่า (อ.แม่สอด-พบพระ-ท่าสองยาง-แม่ระมาด-และ อ.อุ้มผาง) เข้าร่วมรับฟัง ตามโครงการประกันราคาผลิตผลการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดตาก-สำนักงานการค้าภายในจังหวัดตาก-เกษตรจังหวัดตาก และ จนท.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เข้าร่วมให้ความรู้และแนะนำโครงการ
นายสามารถ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า รัฐบาลประกันราคาผลผลิตของพืชเศรษฐกิจ 3 ประเภท คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-มันสำปะหลัง-และข้าวเปลือกนาปี ในปีการผลิต 2552/2553 และพื้นที่จังหวัดตาก มีการปลุกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนหลายแสนไร่ โดยมากที่สุดที่ อ.แม่สอด กว่า 228,000 ไร่ รองลงมาคือ อ.พบพระ 110,000 ไร่ แม่ระมาด 110,000 ไร่ และอำเภออื่นๆ ตามลำดับ ซึ่งถือว่า จ.ตาก เป็นแหล่งผลิตอันดับต้นๆ ของประเทศ
โดยในสัดส่วนของทั้งประเทศมีปริมาณผลผลิต จากตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 4.251 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูก 6.633 ล้านไร่ ผลผลิตต่อไร่ 640 กก.ข้าวโพดเมล็ด ความชื้น 14.5% โดยการจ่ายเงินชดเชยตามปริมาณที่ผลิตได้จริงในพื้นที่ปลูกที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้คูณด้วยปริมาณผลผลิต 640 กก.แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ตัน โดยจะต้องให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม 2552 หรือไม่เกินพฤศจิกายน 2552
ด้าน นายเสม สุภา สมาชิกสภาเทศบาลตำบลพบพระ อ.พบพระ จ.ตาก ในฐานะแกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พบพระ ที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ได้ถือโอกาสยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ผ่าน นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เพื่อส่งต่อให้รัฐบาล โดยระบุในหนังสือว่า ขอให้เพิ่มหลักเกณฑ์การประกัน 2 ข้อ คือ 1.ขอเพิ่มจำนวนผลผลิตการประกัน จากครอบครัวละ 20 ตัน เป็น 30 ตัน และ 2.ขอเพิ่มวงเงินประกันจาก 7.10 บาท เป็น 7.80 บาท
โดยกลุ่มเกษตรกร อ.พบพระ ให้เหตุผลว่า ข้อมูลที่รัฐบาลได้ไปนั้น เป็นข้อมูลที่อ้างอิงจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบการเกษตร ที่ได้ไปสำรวจซึ่งมีข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อมูลจริงในด้านการลงทุนภาคเกษตรของเกษตรกร ที่ลงทุนไปสูงกว่าที่ จนท.รัฐประเมินหรือนำไปอ้างอิง ทำให้ตีราคาประกันออกมาต่ำกว่าความจริง และจำนวนผลผลิตแต่ละครอบครัวก็มีมาก จึงขอเพิ่มหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อลดปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีอาชีพเป็นเกษตรกร