xs
xsm
sm
md
lg

นครพนมจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง-มหกรรมยางพารา 5-9 ก.พ.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครพนม-กระทรวงเกษตรฯ จับมือกองทุนสงเคราะห์สวนยางจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขงและมหกรรมยางพาราที่นครพนม 5-9 ก.พ.นี้ บูมสินค้าเกษตรและเปิดเวทีเสวนาเส้นทางยางพาราอินโดจีนเตรียมพร้อมรับมือคู่แข่งตลาดยางพาราใหม่จากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านลาวกัมพูชาและเวียตนาม

นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ได้เปิดแถลงข่าวการจัดงานวันเกษตรลุ่มน้ำโขงและมหกรรมยางพารา 50 ปี กองทุนสวนยาง(สกย.) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์นี้ที่วิทยาลัยเกษตรเทคโนโลยีนครพนม

การจัดงานครั้งนี้จะยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 13 ปี มีการนำหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรมาให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่ประชาชนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดนิทรรศการให้ความรู้ชาวบ้านที่มาชมงาน พร้อมนำเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จทุกสาขาอาชีพทั้งในด้านเกษตรกรรมปลูกพืช ยางพารา เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ จากทั่วประเทศมาที่นี่ เพื่อให้เกษตรกรที่มาชมงานได้แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อนำไปปรับใช้ ขณะเดียวกันภายในงาน จะมีการจำหน่ายสินค้าผลิตผลด้านการเกษตรสินค้าโอท็อปของชาวบ้านในราคาถูกและส่งเสริมรายได้แก่ประชาชนด้วย

ด้านนายประวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์สวนยาง กล่าวว่าภายในงานครั้งนี้ จะมีการจัดเสวนาถกเรื่อง"เส้นทางยางพาราสู่อินโดจีน"ประเด็นหลักๆนั้นปัจจุบันภาคอีสานหลายจังหวัดมีการปลูกยางพารามากและมีผลผลิตออกมาสูงถึงแม้ขณะนี้ราคาจะดีกิโลกรัมถึง 90-100 บาท แต่ที่เราห่วงคือคู่แข่งตลาดยางพาราใหม่ในกลุ่มประเทศอินโดจีนเช่น ลาว เวียตนาม กัมพูชา ก็มีการบูมปลูกยางพาราเช่นกันในช่วง3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งอีกไม่กีปียางที่เขาปลูกจะเริ่มมีผลผลิตสู่ตลาดและเป็นคู่แข่งชิงตลาดยางของเรา

ที่สำคัญต้นทุนผลิตตลอดจนแรงงานเขาต่ำกว่าเราจะทำให้ยางของเขาขายตัดราคาเราได้ ดังนั้นวงเสวนายางพาราครั้งนี้เราจะเน้นให้ยางเราทะลุไปอีกมิติหนึ่งสำหรับเกษตรกรคือนำผลผลิตยางไปผลิตเป็นสินค้าเช่นหมวกยางพาราหรืออื่นๆเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้ตัวเองโดยไม่จำกัดว่าต้องรอขายยางแผ่นเท่านั้นเมื่อในอนาคตยางราคาตกก็จะไม่มีปัญหา

อีกประเด็นหนึ่งของเส้นทางยาพาราสู่อินโดจีนเราต้องชิงความได้เปรียบคือในจังหวัดชายแดนเช่นนครพนม ตั้งเป็นศูนย์กลางตลาดยางพาราเป็นตัวประสานการรับซื้อยาง หรือทางผ่านยางจากประเทศเพื่อนบ้านโดยยึดพื้นฐานได้รับประโยชน์ร่วมกันและไม่ขายยางตัดราคากันซึ่งจะทำให้ตลาดเสียเกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งคู่ ซึ่งประเด็นนี้เราต้องหารือกันเพื่อรองรับตลาดยางในอนาคตว่าจะมีทิศทางเช่นไร
กำลังโหลดความคิดเห็น