บุรีรัมย์- “เจ๊วา” รมว.พาณิชย์ ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวที่เกษตรกร จ.บุรีรัมย์ ปลูกในแปลงยางพาราแบบเกษตรผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวประสบผลสำเร็จ เผย เกษตรกรจากหลายอำเภอสนใจร่วมงานกว่า 1,000 คน หวังนำไปขยายผลปรับเปลี่ยนพื้นที่นาดอนหันมาปลูกยาง และพืชผสมผสาน
วันนี้ (18 พ.ย.) เมื่อเวลา 15.00 น.นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ ทั้งปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมต่างๆ พร้อม นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และประชาชน ได้ร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงยางพารา ของ นายไพวงศ์ หลักชัย เกษตรกรบ้านห้วย หมู่ 7 ต.หนองโสน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่เพาะปลูกเพื่อลดความเสี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว บนพื้นที่ 20 ไร่จนประสบผลสำเร็จ
โดยการจัดงานลงแขกเกี่ยวข้าวในครั้งนี้ เป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่นาดอน หรือปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ได้หันมาปลูกยางพาราและพืชผสมผสาน ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งได้มีเกษตรกรจากหลายอำเภอสนใจมาร่วมงานกว่า 1,000 คน เพื่อนำเทคนิควิธีการไปขยายผลในการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาของตนเอง หันมาปลูกยางพารา หรือทำการเกษตรแบบผสมผสานเพิ่มมากขึ้น
สำหรับยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ที่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ มาตั้งแต่ปี 2532 ปัจจุบัน จ.บุรีรัมย์ มีเกษตรกรปลูกยางพารา 14,479 ราย พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 157,000 ไร่ และเปิดกรีดยางได้แล้วกว่า 58,000 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 280 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี คิดเป็นผลผลิตรวมกว่า 16,399 ตัน สร้างรายได้แก่เกษตรกรปีละกว่า 1,213 ล้านบาท
ขณะที่สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากพืชที่เคยปลูกมาเป็นแปลงปลูกยางพารา ซึ่งขณะนี้กำลังเผยแพร่เทคนิควิธีการปลูกพืชระหว่างรอผลผลิตยางพารา เช่น มันสำปะหลัง งาดำ ถั่ว ข้าวโพด และ ข้าว ซึ่งสามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรช่วงระหว่างรอเปิดกรีดยางได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชแบบผสมผสาน เป็นการลดความเสี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทั้งยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี จากเมื่อก่อนที่เคยมีรายได้จากการปลูกยางพารา หรือทำนาเพียงอย่างเดียว หากหันมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ก็จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรทำให้มีรายได้เพิ่ม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย
“สำหรับยางพาราถือเป็นสินค้าเกษตรกรที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศไทยอย่างมาก ส่วนข้าวก็ถือเป็นสินค้าเกษตรหลักเช่นกัน ดังนั้น หากมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวในแปลงปลูกยางพารา ก็ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าส่งเสริมอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ช่วงระหว่างรอยางพาราโตแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่และผลผลิตข้าวอีกด้วย”นางพรทิวา กล่าว