ตาก- ทุนชายแดนเชื่อมั่น AFTA ส่งผลดีต่อการค้าชายแดนไทย-พม่า เตรียมเปิดเวทีเตรียมความพร้อมธุรกิจไทยรับมือ Free Trade Area ด้านนายด่านศุลกากรแม่สอด พร้อมอำนวยความสะดวกเต็มที่
นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวถึงการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน(ASEAN Free Trade Area-AFTA) และการกำหนดข้อตกลงเขตการค้าเสรี(Free Trade Agreement) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยให้เกิด Free Trade ระหว่างคู่สัญญา ว่า ถือเป็นเรื่องดีและจะทำให้การค้าชายแดนไทย-พม่า ด่านแม่สอด-เมียวดี เพิ่มมากขึ้น
ในระยะแรกอาจจะยังไม่เห็นผลชัดเจน แต่ในระยะยาวจะเป็นผลดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในระดับชาติ-ท้องถิ่น รวมทั้งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน(นักธุรกิจ) ที่จะต้องร่วมงานกัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเปิดเขตการค้าเสรี ยังต้องมีมาตรการและข้อกฎหมายของไทยประกอบด้วย ซึ่งยังคงต้องมีรายละเอียดอีกมากมายในการทำการค้าเสรี ซึ่งทางหอการค้าจังหวัดตาก จะเปิดเวทีประชุมสัมมนา “เขตการค้าเสรีอาเซียน(ASEAN Free Trade Area) และการกำหนดข้อตกลงเขตการค้าเสรี(Free Trade Agreement) ในเร็วๆนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจระบบมากขึ้น
นายบรรพต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเวทีประชุมสัมมนาที่จะจัดขึ้น ส่วนหนึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและผลกระทบจากการค้าเสรี และให้มีการปรับตัวสอดคล้องกับสถานการณ์ ตามเงื่อนไขและข้อตกลงอย่างเหมาะสม รวมทั้งทราบถึงความคืบหน้าของกรอบข้อตกลงและการศึกษาผลกระทบ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมตลอดเวลา จะได้นำความรู้ไปขยายต่อทั้งในภาคเกษตร-อุตสาหกรรม
ด้านนายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด ชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า แม้ไทยได้เริ่มบังคับใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็ตาม แต่ขณะนี้พม่ายังไม่ได้ใช้สิทธิ ในการนำเข้าสินค้าเกษตรเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ ที่การนำเข้าสินค้าเกษตรลดลง ถึงร้อยละ 50% เพราะพม่าหันไปส่งสินค้าเกษตรให้กับประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากราคาดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ด่านศุลกากรแม่สอด ได้เตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจ ทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านในการนำเข้าสินค้าเกษตรภาษี 0 % ซึ่งบางอย่างต้องรอความชัดเจนในด้านกฎหมายและข้อตกลงในรายละเอียดต่างๆ จากกระทรวงพาณิชย์อีกครั้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า สมาคมประชาชาติแห่งอาเซียน (Association of South East Asia Nation )10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย-บรูไน-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์-สิงคโปร์-เวียดนาม-ลาว-พม่า-และกัมพูชา ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการพัฒนาวัฒนธรรมในกลุ่ม ASEAN ธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่
ข้อตกลงASEAN Free Trade Area เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ไทย ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งการลดอัตราภาษีศุลกากร การเปิดตลาดเสรี ครอบคลุมไปถึงการเปิดเสรีด้านการลงทุน และการจัดทำข้อตกลงร่วม(เอ็มโอยู) ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย