กาฬสินธุ์-อบต.กุดค้าว เมืองน้ำดำร่วมกับองค์การภาครัฐ เอกชนทุกภาคส่วนเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลุ่มน้ำลำพะยังตอนกลาง หวังระดมสมองร่วมกันวางแนวทางบริหารจัดการน้ำในการทำการเกษตรของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ตามแนวทางพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
วันนี้( 19 ธ.ค.) ที่ศาลาวัดศิริมงคลธรรม บ้านหนองโง้ง-ทุ่งคลองไฝ่ ต.กุดค้าว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ดร.วีระพงษ์ พรหมมนตรี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.เกษม เชตะวัน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตกาฬสินธุ์ นายอารยะ นางาม นายกอบต.กุดค้าว นายกอบต.จากต.แจนแลน ต.นาขาม ต.สามขา และต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์พร้อมด้วยตัวแทนจากองค์ภาครัฐเอกชนทุกภาคส่วนและประชาชนใน 5 ตำบลกว่า 500 คนร่วมกันเปิดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลุ่มน้ำลำพะยังตอนกลาง
เพื่อเป็นแนวนโยบายในการบริหารจัดการน้ำในการทำการเกษตรของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ตามแนวทางพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
นายอารยะ นางาม นายกอบต.กุดค้าว กล่าวว่า ลำน้ำพะยังเกิดจากเทือกเขาภูพานจ.สกลนครไหลผ่านมาจ.กาฬสินธุ์และผ่านไปยังจ.ร้อยเอ็ด เป็นลุ่มน้ำสำคัญในการดำเนินชีวิตของประชาชนใน 5 ตำบล ประกอบด้วย ต.กุดค้าว ต.แจนแลน ต.นาขาม ต.สามขา และต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตรปลูกข้าว มัน อ้อย และพืชผักต่างๆ
โดยในอดีตเป็นลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรทางธรรมชาติของระบบภูมินิเวศน์ทั้งห้วย หนอง คลอง บึง มีความหลากหลายทางธรรมชาติและพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์น้ำนานาชิด แต่ปัจจุบันความอุดมสมบูรลดลงจำนวนมาก
ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐบาลได้มีการโอนภารกิจในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในท้องถิ่นและชุมชนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสม เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้กับประชาชน ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทันเหตุการณ์สอดคลองกับความต้องการของประชาชน
ดังนั้นอบต.กุดค้าวจึงได้ร่วมกับอบต.ที่อยู่ใกล้เคียงองค์กรภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วนจัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลุ่มน้ำลำพะยังตอนกลางขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอเป็นแนวนโยบายในการบริหารจัดการน้ำในการทำการเกษตรของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนทั้งระบบ
โดยหากมีการบริหารจัดกาน้ำที่ดีแล้ว ประชาชนจะได้มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของตนเองและครอบครัว มีวิถีชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข ครอบครัวมีรากฐานฐานะมั่นคง และมีศักดิ์ศรี ซึ่งให้สอดคลองกับแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้านดร.วีระพงษ์ พรหมมนตรี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานสามารถใช้น้ำทำการเกษตรจากธรรมชาติได้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์ อีก 75 เปอร์เซ็นต์ ถูกปล่อยทิ้งไปไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ ทำให้สูญเสียทรัพยากรน้ำอย่างเปล่าประโยชน์ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับในอดีตแล้วคนบรรพบุรุษนั้นสามารถใช้น้ำที่มีอยู่ได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์
กาฬสินธุ์-อบต.กุดค้าว เมืองน้ำดำร่วมกับองค์การภาครัฐ เอกชนทุกภาคส่วนเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลุ่มน้ำลำพะยังตอนกลาง หวังระดมสมองร่วมกันวางแนวทางบริหารจัดการน้ำในการทำการเกษตรของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ตามแนวทางพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการระดมความคิดเห็นจากผู้นำท้องถิ่น นักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำลำพะยัง ตอนกลาง เพื่อร่วมกันสร้างจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการจัดหาแหล่งน้ำ การใช้ประโยชน์ การอนุรักษ์และการฟื้นฟูแหล่งน้ำร่วมกัน เพื่อให้ประชาชน
ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างสูงสุด มีวิถีชีวิตอย่างมีความสุขอย่างแท้จริง ตามแนวพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถในการอนุรักน้ำเป็นชีวิตของมนุษย์