ฉะเชิงเทรา - ไข้หวัดหมูเริ่มระบาดในไทย เกษตรกรแปดริ้วเผยยังไม่ทราบรายละเอียด แต่เชื่อไม่กระทบ หรือจะมีการเข้ามาแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่ เหตุจากฟาร์มสุกรรายย่อยส่วนใหญ่ปิดตัวเองตายลงไปจากวงการนานแล้ว หลังตกเป็นเหยื่อปิศาจเศรษฐกิจ เมื่อยุครัฐบาลนายทุนเรืองอำนาจ ทั้งที่จังหวัดฉะเชิงเทราเคยเป็นเจ้าของแชมป์ผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ที่สุดของประเทศ
วันนี้( 17 ธ.ค.52) ผู้สื่อข่าวได้ออกตระเวนไปตามหมู่บ้าน และชุมชนของเกษตรกร ที่เคยเป็นแหล่งเพราะเลี้ยงสุกรเป็นจำนวนมาก ในสมัยอดีต จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปทั้งประเทศ ว่าจังหวัดฉะเชิงเทรา ถือเป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรเลี้ยงหมูมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และมีชื่อเสียงมาก่อนจังหวัดนครปฐม ทั้งในเขตพื้นที่ตำบลบางไผ่ ต.คลองจุกเฌอ อ.เมืองฉะเชิงเทรา และ เขต ต.บางสวน ต.สาวชะโงก ต.เสม็ดเหนือ ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า ซึ่งเคยเป็นสถานที่ ที่คนในตำบลนี้ เลี้ยงหมูกันทุกครัวเรือน กลับไม่มีหมูเลี้ยงอยู่ภายในฟาร์มเลยแม้แต่ตัวเดียว
พบนายประทวน ฆะศิริ อยู่บ้านเลขที่ 72 ม.5 ต.เสม็ดเหนือ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมู่ ที่ยังพบเหลืออยู่เพียงรายเดียวในย่านนั้น กล่าวถึงสาเหตุของฟาร์มหมูที่เคยมีอยู่เป็นจำนวนมาก จนแทบจะทุกครัวเรือนในหมู่บ้านตำบลนี้ว่า ฟาร์มเลี้ยงหมูที่เคยมีอยู่ทั่วบริเวณในพื้นที่แห่งนี้ ได้ทยอยล้มหายตายจากวงการไป ด้วยการปิดตัวลงไปถึงกว่าร้อยละ 80 นั้น มีสาเหตุมาจากเมื่อครั้งที่ รัฐบาล “ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เคยสำรวจข้อมูลการเลี้ยงหมูของเกษตรกร
ซึ่งขณะนั้นในจังหวัดฉะเชิงเทรามีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เลี้ยงกันในครัวเรือน เลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดเล็กไม่เกิน 1,000 ตัว ฟาร์มขนาดกลาง 1,000-10,000 ตัว และฟาร์มขนาดใหญ่ตั้งแต่ 10,000 ตัวขึ้นไป
จนรู้ข้อมูลของการเลี้ยงสุกรจากเกษตรกรทั้งหมด ทั้งจำนวนแม่พันธุ์ จำนวนการให้ผลผลิต ลูกสุกร จำนวนผลผลิตเนื้อหมู ตลอดจนการขึ้นลงของราคาว่า จะขึ้นเมื่อไหร่ จะลงเมื่อไหร่ เมื่อราคาหมูจะขึ้นราคา รัฐบาลในยุคนั้นก็เข้ามาควบคุมราคา แต่พอหมูราคาถูกลงเกษตรกรขาดทุนกลับไม่ให้ความช่วยเหลือ โดยไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เกษตรกรทั้งขนาดกลาง และรายย่อยจึงอยู่ไม่ได้ รวมทั้งรายใหญ่ๆ หลายรายก็ต่างปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน
ซึ่งในการสำรวจข้อมูลของเกษตรกรขณะนั้น ได้ใช้อำนาจของรัฐ และกลไกในการบริหารงานของรัฐบาลมาบีบบังคับ ซึ่งหากเกษตรกรไม่ให้ข้อมูล หรือรายงานข้อมูลให้แก่ทางภาครัฐทราบ ก็จะเกิดปัญหาในเรื่องของการเคลื่อนย้าย การจำหน่ายออกสู่ตลาด ซึ่งทางปศุสัตว์จะไม่ออกใบเคลื่อนย้ายให้ แต่นายทุนรายใหญ่ ที่เชื่อว่าได้ให้เงินในการสนับสนุนรัฐบาลในขณะนั้นกลับอยู่รอดได้ ทั้งที่ราคาหมูหน้าตลาดถูกลง ทั้งนี้เนื่องจากเขานำหมูแช่แข็งออกมาขาย เพราะเขารู้ข้อมูลจากรัฐบาลทั้งหมดที่เขาสำรวจไป เขาจึงสามารถบังคับตลาดได้ ว่าจะให้ราคาเนื้อหมูขึ้นหรือลงอย่างไร เมื่อใด
“ผมไม่ได้พูดเรื่องเกี่ยวกับการเมืองนะ” แต่พูดถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ที่เกษตรกรถูกกระทำ เพราะเมื่อก่อนตนก็เคยชื่นชอบในรัฐบาล “ทักษิณ” ที่ใจร้อนสามารถทำอะไรได้อย่างรวดเร็วทันใจ แต่มาเดี๋ยวนี้จึงได้รู้แล้วว่า เป็นอย่างไร และยังเคยได้ยินมาอีกว่า การที่เขาต้องการที่จะกำจัดเกษตรกรรายย่อยออกไปให้เหลือแต่นายทุนรายใหญ่ๆ เพียงไม่กี่รายนั้น ก็เพื่อที่จะได้สามารถควบคุมบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น
ซึ่งก็อาจจะจริงของเขา เพราะเกษตรที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่เคยมีเป็นจำนวนมากที่สุดของประเทศ เมื่อยุคสมัยอดีต ที่ทุกครัวเรือนต่างพากันประกอบอาชีพเลี้ยงหมู จึงต้องปิดตัวเลิกเลี้ยงกันไปกว่าร้อยละ 70-80 ทั้งที่เป็นอาชีพที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หลายชั่วอายุคน แต่มาถึงรัฐบาลชุดนี้ เขาไม่ได้เข้ามาแทรกแซงราคา หรือควบคุมอะไร ราคาหมูหน้าฟาร์มจึงเริ่มดีขึ้นมาบ้าง โดยเคยขึ้นมาสูงสุดถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม
ส่วนการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดหมู หรือไข้หวัด 2009 นั้น ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่คนงานได้ดูข่าวเมื่อช่วงกลางวันที่ผ่านมา จึงยังไม่ทราบว่าจะส่งผลกระทบอะไรต่อฟาร์มเลี้ยงหมูหรือไม่ แต่เชื่อว่าคงจะไม่เข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีฟาร์มเลี้ยงหมูเหลืออยู่น้อยมาก หรืออาจจะเป็นการปล่อยเชื้อ ปล่อยข่าวของนายทุนรายใหญ่ ที่ต้องการให้ราคาหมูลดลงมา เนื่องจากขณะนี้ราคาหมูหน้าฟาร์มขึ้นมาอีก 1 บาท จากเดิมเมื่อวานก่อนอยู่ที่ 57 บาท เป็น 58 บาทแล้ว
สำหรับฟาร์มของตนนั้นถือเป็นฟาร์มขนาดกลาง จากเดิมที่เคยเลี้ยงหมูมากที่สุดประมาณ 6 พันตัว ขณะนี้เลี้ยงอยู่ 3 พันตัว แต่ก็ไม่ค่อยได้กำไร เพราะต้นทุนสูงมาก เนื่องจากค่าลูกสุกรที่ซื้อมา ขณะที่น้ำหนักตัว 25 กก. มีราคาตัวละ 2,500 บาท เมื่อรวมกับค่าอาหาร ในหมู 1 ตัว จะมีต้นทุนสูงถึงกว่า 5,000 บาท แต่ขายเป็นหมูเนื้อได้เพียงตัวละ 6,000 บาท เท่ากับหมู 1 ตัว มีกำไรอยู่แค่ 500-1,000 บาท โดยต้องใช้เวลาเลี้ยงนานถึง 4 เดือน"