xs
xsm
sm
md
lg

32 เหยื่อแคดเมียมลุ่มน้ำแม่ตาวยื่นศาลปกครอง-ฟ้อง 6 หน่วยงานรัฐชดใช้ค่าเสียหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - เยื่อแคดเมียมลุ่มน้ำแม่ตาว 32 คนยื่นฟ้อง 6 หน่วยงานรัฐ ฐานไม่รับผิดชอบในพื้นที่สัมปทาน แถมเพิกเฉย

วันนี้ (11 ธ.ค.52) ที่ศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก ชาวบ้านจาก 3 ตำบลลุ่มน้ำแม่ตาวใน อ.แม่สอด จ.ตาก ( ต.แม่กุ,ต.แม่ตาว,ต.พระธาตุผาแดง ) ที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมจำนวน 32 คน พร้อมทนายความ จากสภาทนายฯ และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เข้ายื่นฟ้องศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก ดำเนินคดีกับ 6 หน่วยงานรัฐคือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในกรณีที่ปล่อยให้มีผลกระทบเกิดขึ้น จากการให้อนุญาตและให้สัมปทาน 2 บริษัท ทำเหมืองแร่สังกะสี ล่าสุดศาลปกครองประทับรับเรื่องเป็นคดีหมายเลขดำ 398/2552 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2552

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนใน 3 ตำบลของ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม ที่เกิดจากกระบวนการของบริษัทที่ทำเหมืองแร่สังกะสี 2 แห่งมา 1 ปีแล้ว โดยสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ใช้เวลา 1 ปีในการรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน พยานทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลวิจัย ข้อมูลสุขภาพชาวบ้าน เก็บตัวอย่างจากเลือดชาวบ้าน ตัวอย่างจากสารปนเปื้อนในเมล็ดข้าว ให้สถาบันทางวิชาการได้ตรวจเพื่อใช้เป็นข้อมูลทางหลักฐานทางคดี

เพื่อฟ้อง 6 หน่วยงานรัฐ เรียกร้อง ให้ผู้ถูกฟ้องคดี ประกาศพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลเป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น จัดตั้งกองทุนดูแลสุขภาพและอนามัยชาวบ้านตำบลละ 100 ล้านบาท ส่วนความเสียหายของที่ดินที่ไม่สามารถไปปลูกข้าวหรือปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ ร้องค่าเสียหายให้ชาวบ้านไร่ละ 15,000 บาท ให้หน่วยงานรัฐทั้ง 6 ที่เป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมดูแลบริษัทที่ไปรับสัมปทานในพื้นที่ 2 บริษัท ที่ชาวบ้านเรียกร้องมาตลอด แต่ภาครัฐเพิกเฉย รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลปกครองจะพิจารณาว่า คดีที่ฟ้องมามีน้ำหนักและเข้าข่ายอำนาจของศาลปกครองหรือไม่ หากศาลรับฟ้อง ก็จะมีขั้นตอนการไต่สวนทั้งผู้ฟ้องร้อง และผู้ถูกฟ้องร้องต่อไป

นายญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ อายุ 33 ปี ชาวปากญอ (กะเหรี่ยง) บ้านเลขที่ 82 ม.4 ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า พวกตนเป็นชาวเขาที่อยู่เชิงเขา ได้รับผลกระทบเป็นหมู่บ้านแรก เพราะอยู่ใกล้เหมืองมากที่สุด ทั้งเรื่องน้ำกิน และการเกษตร นาข้าวที่ปลูกได้รับผลกระทบมีสารแคดเมียมปนเปื้อน ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไข ไม่ให้ชาวบ้านปลูกข้าวกิน แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะวิถีชีวิตพวกเราต้องอยู่ในพื้นที่ ณ วันนี้ ชาวบ้านยังคงต้องกินข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม

กำลังโหลดความคิดเห็น