xs
xsm
sm
md
lg

“อานันท์” พบชาวบ้านแลงรับฟังปัญหาเดือดร้อนด้านสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระยอง-อดีตนายกฯ"อานันท์"พบชาวบ้านแลง รับฟังปัญหาความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม เผยจะทำทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา ตามมตรา 67 วรรค 2 ของ รธน. นายกฯ หรือรัฐมนตรีมาสั่งไม่ไ่ด้ ขอให้ทุกฝ่ายรับผิดชอบด้วยกัน ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่เพื่อหาเสียงและผลประโยชน์

เวลา 15.00 น. วันนี้(5ธ.ค.) ที่ศาลาผู้สูงอายุ วัดบ้านแลง หมู่ 1 ต.บ้านแลง อ.เมืองระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานในเครือไออาร์พีซี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่ายและคณะแก้ไขปัญหามาบตาพุด เดินทางมารับฟังความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นจากโรงงาน โดยมีชาวบ้านกว่า 200 คนมาร่วมรับฟังและเสนอปัญหาความเดือดร้อน โดยมีนายสยุมพร ลิ่มไทย ผวจ.ระยอง นายสุทธิ อัชฌาศัย 1 ในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เดินทางมารอรับ

นายอานันท์ กล่าวว่าคณะกรรมการ 4 ฝ่ายไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับขบวนการยุติธรรม โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ได้เข้ามาทำงานได้ 4 สัปดาห์แล้ว คาดว่าอีก 2 สัปดาห์คงเสร็จเรียบร้อย และจัดทำร่างพิมพ์เขียวการแก้ปัญหานิคมอุตสหกรรมมาบตาพุดได้เรียบร้อย พร้อมจัดทำประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะมอบให้รัฐบาลไปดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาอีก 65 โครงการที่ยังติดค้างอยู่ ส่วนรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรก็คงมีการปรึกษาหารือกันต่อไป

สำหรับการเดินทางมาในวันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องขบวนการการทำประชาพิจารณ์ แต่มารับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนใน ต.บ้านแลง อ.เมือง ระยอง และในวันพรุ่งนี้ก็จะไปพบกับชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ

นายอนันท์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมนำไปสู่ปัญหาทางสังคม ขณะนี้การแก้ปัญหายากขึ้น ไม่สามารถแก้ด้วยกฎหมายหรือกระบวนการทางยุติธรรมอย่างเดียวได้ แต่จะต้องร่วมมือกันระหว่างประชาชนและภาคธุรกิจ ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เมื่อ 40 - 60 ปีก่อน เคยผ่านช่วงยุคอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ก็สามารถจัดการให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ด้วยกันได้

ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลวางหลักเกณฑ์ วางมาตรฐานให้เป็นที่พึงพอใจประชาชนกับภาคธุรกิจ โดยมีการบังคับใช้อย่างแท้จริง โดยรัฐบาลอาศัยภาคธุรกิจและชุมชนดูแลตนเองและดูแลซึ่งกันและกัน มีการพบกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง มีคณะกรรมการด้านต่างๆ ดูแลปัญหาในพื้นที่อุตสาหกรรมสนับสนุนคนงานมาคลุกคลีกับชาวบ้าน ทุกอย่างต้องโปร่งใสและชาวบ้านไปตรวจโรงงานได้ ไม่ต้องคอยรัฐบาล ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่

นายอานันท์ กล่าวต่อว่า แต่ในประเทศไทย รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างมาตรฐานให้เป็นที่พึงพอใจ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ เช่น เรื่องคอร์รัปชั่น แทรกแซงการเมือง แทรกแซงธุรกิจ เกิดขึ้นในเมืองไทย ส่วนตัวการแก้ไขปัญหามาบตาพุดระยะสั้นเป็นหน้าที่รัฐบาล ส่วนการปฏิบัติตาม มาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ต้องทำโดยไม่เห็นแก่หน้าใคร นายกรัฐมนตรีก็สั่งไม่ได้ รองนายกรัฐมนตรี ก็สั่งไม่ได้ แต่คณะกรรมการฯ จะทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ ในหลักการ แต่วิธีการสามารถปรับเข้ากันได้ หาทางเดินร่วมกันได้ และรับผิดชอบด้วยกัน ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่เพื่อหาเสียงและผลประโยชน์

ด้านนายสยุมพร ลิ่มไทย ผวจ.ระยอง เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำแผนการลดและขจัดมลพิษภายใต้การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จ. ระยอง ว่า ขณะนี้ได้ส่งแผนปฏิบัติการฯ ซึ่งได้คัดกรองจนเหลือโครงการเร่งด่วนรวม 16 โครงการ สำหรับปี 53 วงเงิน 390 ล้านบาท ให้กับกระทรวงทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โดยเนื้อหาของแผนดังกล่าวคือการแก้ปัญหาน้ำเสียที่ปล่อยจากโรงงาน ส่วนปัญหาด้านกากของเสียขณะนี้ได้ประสานให้โรงงานอุตสาหกรรมติดตั้งระบบจีพีเอสในรถบรรทุกขนกากของเสียเพื่อตรวจสอบการนำไปทิ้ง รวมทั้งได้เสนอของงบประมาณในการนำการนำขยะจำนวน 4 แสนตัน ซึ่งประกอบด้วยขยะชุมชนและขยะกากของเสียในบ่อออกไปทิ้งนอกพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี โดยอยู่ระหว่างการจ้างเอกชนนำไปทำลายอย่างถูกวิธี ซึ่งจะใช้วงเงิน 270 ล้านบาท

สำหรับเรื่องการดูแลปัญหาสุขภาพของชาวบ้านนั้น ทางคณะกรรมการฯ ชุดของ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอขอวงเงินงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโรงพยาบาลและสถานีอนามัยเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้ได้อย่างเต็มที่ แต่ขณะนี้ทางจังหวัดได้เสนอของงบเพิ่มเติมอีก 294 ล้านบาท ระยะเวลาปี 2553-2555 เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่เพื่อออกตรวจชาวบ้านในเขตควบคุมมลพิษทั้งหมด โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มปฏิบัติการภายในต้นปี 53 นิ้

ด้านนายอุดม ศิริภักดี ชาวบ้าน ต.บ้านแลง กล่าวว่า ชาวบ้านแลง ได้รับผลกระทบมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมาได้รับความทุกข์ทรมาน จากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมมายาวนานหลายตำบล โดยเฉพาะเรื่องกลิ่นเหม็นจะทวีความรุนแรงมากในช่วงกลางคืน มีทั้งกลิ่นฝรั่งสุก แก๊สหุงต้ม ชาวบ้านที่สูดดมเข้าไปทุกคืนต้องล้มป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แต่มันก็ไม่มีความชัดเจนว่าผู้เจ็บป่วยมีสาเหตุมาจากกลิ่นหรือไม่ อยากจะขอว่ากลิ่นที่เหม็นอยู่ทุกวันนี้ที่ชาวบ้านเดือดร้อน จะแก้ไขได้หรือไม่

นายอุดมกล่าวต่อว่า เมื่อโรงงานอยู่ได้ก็ขอให้ชาวบ้านอยู่ได้เช่นกัน พร้อมกันนี้ ขอมอบเอกสารที่ประชาชนเขียนร้องเรียนลงชื่อเรียบร้อยมาประกอบการพิจารณา แต่ไม่สามารถเก็บกลิ่นเหม็นใส่ถุงมามอบเป็นหลักฐานได้ ขอให้ทางโรงงานไออาร์พีซีเห็นใจประชาชนด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นได้มีตัวแทนชาวบ้านอีกหลายคนกล่าวถึงชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเรื่องน้ำและเรื่องอื่นๆ ขณะเดียวกันเมื่อนายกอร์ปศักดิ์ สภาสุ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงทางนายอานันท์ได้ฝากเรื่องนี้ให้นายกอร์ปศักดิ์ ช่วยดูแลให้ด้วย คือให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง เพื่อให้โรงงานอยู่ร่วมกับประชาชนได้ จากนั้นคณะนายอานันท์ รีบเดินทางไปที่โรงแรมภูริมาศ อ.บ้านฉาง ในเย็นวันเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น