พะเยา - จังหวัดพะเยา เร่งออกมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หลังหลายพื้นที่ เริ่มเผาเศษวัชพืช ชี้อาจต้องนำมาตรการ หรือข้อบังคับทางกฎหมายมาปรับใช้อย่างจริงจัง ขณะที่ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เตรียมก่อสร้างสถานีตรวจคุณภาพอากาศแบบถาวร เชื่อนำข้อมูลที่ได้ปรับแผนรับมือกับสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รายงานข่าวจาก จังหวัดพะเยา แจ้งว่า นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดพะเยา ที่ห้องประชุมจอมทอง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพะเยา เพื่อหารือการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า หลังพบว่าสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าปีนี้อาจจะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา
โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพะเยา ผู้แทนจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 สถานีควบคุมไปป่า ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์การงดการเผาให้กับชาวบ้านใน แต่ละชุมชนในทุกรูปแบบทั้งการงดเผาไร่นา ซังข้าว ซังข้าวโพด รวมถึงเศษหญ้าและวัชพืช ซึ่งพบว่าหลายพื้นที่เริ่มมีการเผาเกิดขึ้นแล้ว เช่น อ.จุน อ.เชียงคำ พร้อมกำชับให้นำมาตรการหรือข้อบัญญัติ ในทางกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดและเด็ดขาด นอกจากยังมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า เพื่อทำหน้าที่รับแจ้งหรือเข้าระงับควบคุมเหตุ ตลอดจนพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณดังกล่าวด้วย
ด้านนายอนุสิทธิ์ เมธาวรารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพะเยา(ทสจ.พะเยา) เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา(2551) จังหวัดพะเยา มีค่าฝุ่นละอองในอากาศสูงเกินค่ามาตรฐานในห้วงเดือน ก.พ.-มี.ค.51 รวม 18 วัน มีประชาชนได้รับผลกระทบจากโรคระบบทางเดินหายใจ กว่า 4,000 คน ทำให้ปีนี้ จำเป็นต้องมีวางแผนดำเนินการก่อนช่วงวิกฤติเดือนกุมภาพันธ์
โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับจังหวัดรวมไปถึง ระดับอำเภอ อปท.และกำนัน- ผู้ใหญ่บ้าน เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์งดเผาตอซังข้าว หันมาใช้วิธีไถกลบเป็นปุ๋ย การตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุทุกอำเภอตลอด 24 ชั่วโมง และการบังคับใช้กฎหมาย
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2553 นี้ จ.พะเยายังได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบถาวร ที่จะสามารถตรวจวัดคุณภาพอากาศได้อย่างเที่ยวตรง นำไปสู่การปรับแผนในการรับมือกับสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ