ศูนย์ข่าวภาคเหนือ – สัญญาณอันตรายเกือบเต็มพื้นที่ภาคเหนือแล้ว ทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก-คุณภาพอากาศทะลุขีดมาตรฐานถ้วนหน้า ไล่ตั้งแต่เชียงใหม่ เชียงราย ยันเมืองน่าน เผยคนพะเยาป่วยเพิ่ม 13.95 เท่า-เชียงรายนอน รพ.วันละร่วมพันราย
ดูเหมือนความพยายามรณรงค์ลดเลิกการเผาทุกชนิดเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน – บรรยากาศการท่องเที่ยวอย่างหนักในหลายจังหวัดภาคเหนือตอนบน ยังไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ ล่าสุดวานนี้(10 มี.ค.) ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) – ดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI)หลายจังหวัดภาคเหนือยังคงยืนอยู่เหนือเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง (มาตรฐาน PM10 ไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI ไม่เกิน 100)
โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ ที่ก่อนหน้านี้ปัญหาดังกล่าวยังถือว่าดีกว่าจังหวัดอื่น ๆ ล่าสุดวานนี้ ผลการตรวจวัด PM10 ทะลุเกินเพดาน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ทั้งบริเวณศาลากลางจังหวัด และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยพบว่า PM10 วัดได้สูงถึง 162.2 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI 118.0
ขณะที่เชียงราย ฝุ่นละอองขนาดเล็กยังคงเพิ่มขึ้นไม่หยุด โดยล่าสุดที่สาธารณสุขแม่สาย จ.เชียงราย ค่า PM10 พุ่งเป็น 292.7 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI สูงถึง 175.0 แล้ว ส่วนตัวเมืองเชียงราย PM10 ยังยืนอยู่ที่ 231.8 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI 149.0
ที่แม่ฮ่องสอน เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่วิกฤตหมอกควันทวีความรุนแรงขึ้น โดยค่า PM10 ล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 208.0 ไมโครกรัม/ลบ.ม.แล้ว –AQI ก็สูงถึง 138.0 และที่ลำพูนก็มีค่า PM10 เกินเพดานต่อเนื่องอีก โดยวัดได้ที่ 157.4 ไมโครกรัม/ลบ.ม. – AQI 116.0
เช่นเดียวกับที่ลำปาง ที่ค่า PM10 ยังยืนเหนือระดับมาตรฐาน โดยวัดได้ 131.1 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI 105.0 ขณะที่เมืองน่าน มีค่า PM10 อยู่ที่ 130.9 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI 105.0
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เหล่านี้เริ่มได้รับผลกระทบด้านสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะด้านระบบทางเดินหายใจ จนต้องเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
เช่น ที่เชียงราย พญ.วรรัตน์ อิ่มสงวน อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ กล่าวว่า หลังจากหมอกควันและฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาทุกชนิดได้เข้าปกคลุมเชียงราย มาได้เพียงแค่หนึ่งสัปดาห์พบว่า มีผู้ป่วยนอกเข้ารักษาตัวด้วยโรคระบบทางเดินหายใจไม่ว่า โรคหอบหืด ตาแดง แล้วราว 15,400 คน เฉลี่ยมีผู้ป่วยเข้ารักษาตัววันละ 2,200 คน ส่วนผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาตัวและใช้เครื่องช่วยหายใจในการรักษาอาการหอบหืด โรคปอดอักเสบ การแพ้อย่างรุนแรง ตกอยู่ราววันละ 780-800 คนทีเดียว ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลต้องทำงานกันอย่างหนัก แต่ก็สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทั่วถึงอยู่
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลอยากเตือนประชาชนว่าในช่วงนี้ไม่จำเป็นอย่าออกไปนอกบ้าน แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใส่หน้ากากปิดปากและจมูกที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาด 10 ไมครอนได้ ประการสำคัญควรงดการออกกำลังกายในช่วงนี้
ที่พะเยา ล่าสุดสาธารณสุขจ.พะเยา (สสจ.) ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเพียงแค่สัปดาห์เดียวมีผู้มารับบริการรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยกลุ่มโรคที่เฝ้าระวังทั้งหมด 3,519 คน แยกเป็นผู้มารับบริการด้วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจสูงสุดจำนวน 1,812 คนรองลงมา คือ กลุ่มโรคระบบไหลเวียนโลหิต จำนวน 1,331 คน กลุ่มโรคตาและส่วนประกอบของตา 163 คนและกลุ่มโรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง 113 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้มารับบริการในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว พบว่าทุกกลุ่มโรคที่มีผู้มารับบริการมากขึ้น
กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจทั้งหมดมีผู้มารับบริการเฉลี่ยต่อวัน 260.1 คนสูงกว่าเดือนเดียวกันในปีก่อนจำนวน 13.95 เท่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้มารับบริการในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าผู้มารับบริการเฉลี่ยต่อวันในเดือนมีนาคม(ข้อมูล 1-7 มีนาคม )สูงขึ้นในทุกกลุ่มโรคที่เฝ้าระวัง
ด้านเชียงใหม่ นพ.วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์ สสจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เวลานี้ สสจ.เตรียมหน้ากากอนามัยไว้ 100,000 ชิ้น และล่าสุดได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกรมควบคุมโรคอีก 150,000 ชิ้น ทำให้มีหน้ากากอนายมัยรวม 250,000 ชิ้น สำหรับแจกจ่ายประชาชน ส่วนการเตรียมความพร้อมการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่จะเพิ่มขึ้น ได้สั่งการให้โรงพยาบาลต่างๆ เตรียมความพร้อมไว้รองรับแล้ว ซึ่งคาดว่าอีก 3-5 วันจำนวนผู้ป่วยน่าจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ฝุ่นละอองเริ่มทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการเจ็บป่วยออกมา
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็กของจังหวัดเชียงใหม่ในปีนี้ นพ.วัฒนา ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์ปัญหาจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดไปตลอดทั้งเดือนมีนาคมนี้ หากการตรวจวัดคุณภาพอากาศพบค่าเกินมาตรฐานมากๆ และต่อเนื่องติดต่อกันหลายวันก็อาจมีความจำเป็นที่จังหวัดจะต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากปัญหาหมอกควันเหมือนปี 2550