ศูนย์ข่าวภาคเหนือ – 5 จังหวัดภาคเหนือยังอันตราย ฝุ่นควันคลุ้งเกินค่ามาตรฐาน ทั้งเชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง เผย “แม่สาย” หนักสุด PM10 –AQI ทะลุเกือบ 300 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ทำผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเดินเข้าโรงพยาบาลมากร่วม 1 หมื่นคน/สัปดาห์ ขณะที่เชียงใหม่แม้ไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ผู้ป่วยพุ่งแล้ว 4 หมื่นคน
ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในหลายจังหวัดภาคเหนือ ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รอบ 24 ชม.คำนวณ เมื่อ 09.00 น.วานนี้(8 มี.ค.) ปรากฏว่า ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือคือ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน น่าน ยังเป็นพื้นที่ ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM10) – ดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI)เกินมาตรฐานจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ส่วนลำปาง แม้ PM10 ลดระดับลงต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว แต่AQI ยังเกินกำหนดอยู่ (PM10 มาตรฐานไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI มาตรฐานไม่เกิน 100)
พื้นที่ ที่วิกฤตหนักสุดขณะนี้ก็คือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งวัดค่า PM10 ได้สูงถึง 278.2 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และAQI ก็สูงถึง 169.0 ,รองลงมาคือบริเวณตัวเมืองเชียงราย ที่มี PM10 วัดได้ 213.6 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI 141.0 ส่วนที่จังหวัดน่าน วัดค่าPM10 ได้สูงต่อเนื่องถึง 161.0 ไมโครกรัม/ลบ.ม. –AQI อยู่ที่ 118 ,พะเยา พบPM10 อยู่ในระดับ 150.6 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI อยู่ที่ 113.0 ,แม่ฮ่องสอน พบว่า PM10 วัดได้ 141.2 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และAQI อยู่ที่ 109.0
ขณะที่จังหวัดลำปาง ที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ค่า PM10 เคยทะลุเกินเพดานมาตรฐาน แม้ว่าขณะนี้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กจะลดระดับลงเหลือ 88.8 ไมโครกรัม/ลบ.ม.แล้วก็ตาม แต่ AQI กลับยังเกินค่ามาตรฐานอยู่ โดยอยู่ในระดับสูงถึง 177.0 ซึ่งถือว่าอยู่ในโซนสีเหลือง ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เกือบทะลุถึงโซนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนมากแล้ว
ทั้งนี้ที่เชียงราย ปัญหาไฟป่า ตามป่าละเมาะ ยังคงลุกลามไปทั่วจังหวัด โดยเฉพาะ อ.แม่สรวย เวียงป่าเป้า เวียงแก่น ฯลฯ ซึ่งสามารถเห็นควันไฟได้ในระยะไกล เมื่อมองจากภูเขาสูงลงมาพบว่ามีกลุ่มควันปกคลุมในระยะต่ำอยู่เต็มจนทำให้ทัศนวิสัยย่ำแย่
นพ.ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย กล่าวว่า หลังเกิดปัญหาหมอกควันปกคลุมทั่วบริเวณได้ทำให้ทางสำนักงานสาธารณสุขได้รับการจัดสรรหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองเพื่อแจกจ่ายประชาชนมาแล้วจำนวน 100,000 ผืน และตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เน้นให้เจ้าหน้าที่นำไปแจกจ่ายแก่ผู้ที่ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วจังหวัด เพื่อให้แก่ผู้ชราและเด็กโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ยังรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก เพราะแจกทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ โดยสิ่งที่สามารถทำได้คือเตรียมผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำเวลาออกไปข้างนอกบ้านเพื่อเช็ดหน้าตาเวลาเกิดระคายเคือง ซึ่งคงจะช่วยได้มาก รวมไปถึงรณรงค์ไม่ให้มีการเผาสิ่งต่างๆ ด้วย
นายแพทย์ชำนาญ กล่าวอีกว่า วิกฤตดังกล่าวทำให้มีประชาชนป่วยด้วยทางเดินหายใจจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ค่อนข้างมาก เฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 10,000 คน มีทั้งโรคหวัด ไอ หอบหืด ตาแดง ตาอักเสพ หายใจขัด ฯลฯ ซึ่งแพทย์ก็ให้การรักษาไปตามปกติซึ่งไม่ถือว่าเป็นโรคร้ายแรง แต่ก็ถือเป็นผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้นช่วงนี้ขอให้หลายหน่วยงานช่วยกันรณรงค์ฉีดพ่นน้ำ หรือสร้างความชุ่มชื้นไปในอากาศเพื่อลดปัญหาลงบ้าง
“ถ้าจะรอให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงตามปกติ ก็คงต้องรอฝนก็เมษาฯ เป็นต้นไป ขณะที่ตอนนี้เพิ่งจะเป็นช่วงต้นเดือนมีนาฯเท่านั้น”
ด้านนายแพทย์สุระ คุณคงคาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สาย กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหน้าหายใจเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนทัศนวิสัยในการมองเห็นก็แย่ลง ซึ่งคาดว่าปัญหาไฟป่าคงจะเกิดขึ้นจากทั้งสองฝั่งประเทศจึงทำให้มีหมอกควันมากเช่นนี้ สำหรับมาตรการคงทำได้เพียงแค่แจกหน้ากากอนามัยกับกลุ่มเสี่ยง ส่วนประชาชนทั่วไปก็รณรงค์ว่ากรณีไม่ติดธุระไปไหนก็ขอให้อยู่แต่ในบ้านและปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดด้วยเพื่อรอฝนและลมที่จะมาชะล้างบรรยากาศต่อไป
ส่วนที่เชียงใหม่ แม้ล่าสุดจะวัดค่า PM10 ได้ที่ 106.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI 76.0 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานก็ตาม แต่เมื่อ 7 มีนาคม พบว่า ค่าPM10 บริเวณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย วัดได้ถึง 123.9 ไมโครกรัม/ลบ.ม.-AQI 102
นายวิชัย กิจมี หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ของจังหวัดเชียงใหม่ถือว่าดีกว่าหลายจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากได้กระแสลมช่วยพัดพาทำให้ฝุ่นละอองลดลง และทำให้เพิ่งมีเพียงวันเดียวที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน
อย่างไรก็ตามปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่ ก็ทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยโรงพยาบาลของรัฐ 10 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษารวมทั้งสิ้นกว่า 40,000 คน