สระแก้ว-รมช.พาณิชย์พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่สระแก้ว ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-กัมพูชาเผยปิดด่านหรือไม่ ต้องติดตามดูท่าทีกัมพูชาอย่างใกล้ชิด ยืนยันไทยเรียกทูตประจำเขมรกลับ เพราะถูกแทรกแซงกิจการภายในโดยฝ่ายกัมพูชาลบหลู่ศาลของเราก่อน เหน็บ"แม้ว-นพดล"อยากโอนสัญชาติเป็นเขมรก็บอกมา
วันนี้ (7พ.ย.52) นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายกฤษฏา เปี่ยมพงษ์สานต์ รองปลัดกระทรวงพานิชย์ , นายบรรยง ลิ้มประยูรวงค์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า,นางพิรมล เจริญเผ่า รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก นายอิทธิพล ช้างหลำ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายนภดล สระวาสี รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างต่างประเทศ ,นางผุสดี กำปั่นทอง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน , นางสาวปานจิตต์ พิศวง ผู้อำนวยการกองกลาง , นางสาวพรอำไพ คุณวิจิตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานพานิชย์ภูมิภาค เดินทางไปยังช่องทางผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว บริเวณกลางสะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชา ก่อนเข้ารับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์การค้าตามแนวชายแดน ณ ห้องประชุมพรหมแดนด่านศุลกากรจังหวัดสระแก้ว โดยมีนายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมคณะกว่า 57 หน่วย เข้าร่วมให้การต้อนรับ
นายอลงกรณ์ กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ เพื่อมาดูสถานการณ์การค้าชายแดน ซึ่งในเบื้องต้น สถานการณ์โดยทั่วไปยังปกติ แต่หลายฝ่ายหวั่นวิตกว่าอาจมีการปิดด่านหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นไปตามกรอบที่ทางรัฐบาลกำหนดไว้ คือการทบทวนพันธกรณี หรือข้อตกลงรวมทั้งความช่วยเหลือที่ประเทศไทยให้กับประเทศกัมพูชา สำหรับในส่วนของกระทรวงพาณิชย์นั้น ขณะนี้ เป็นขั้นตอนของการดูแลสถานการณ์การค้า โดยเฉพาะการค้าชายแดนที่มีถึง 80% ของการค้าทั้งหมดว่า เป็นไปโดยปกติหรือไม่อย่างไร และก็การดูแลผู้ประกอบการของไทยทั้งที่อยู่ภายในประเทศกัมพูชาและมีการค้าขายตามชายแดน ขณะเดียวกันก็จะมารับฟังความคิดเห็นจากทางจังหวัดชายแดนสระแก้ว และผู้ประกอบการชายแดน
ส่วนระดับพันธกรณีต่างๆ ระหว่างประเทศที่ลดลง เรื่องของการค้า นโยบายเป็นอย่างไร ขณะนี้ ยังเป็นปกติอยู่ หลังจากที่มีการเรียกเอกอัคราชฑูตกลับประเทศ เพื่อตอบโต้กรณีที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยหนีคดีจากประเทศไทยเป็นที่ปรึกษา ก็เป็นการลดระดับความสัมพันธ์ทางการฑูตในขณะนี้ และจะมีการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี ที่ รมต.กระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องของการทบทวนบันทึกความเข้าใจในเรื่องของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่ง ออกในสมัยที่ พ.ต.ต.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี บันทึกดังกล่าวถ้าหากว่าดำเนินการต่อไปภายใต้บันทึกนั้น อาจจะทำให้ประเทศไทยนั้นเสียเปรียบ เพราะว่าอดีตนายกทักษิณ รู้ท่าทีรู้ข้อมูลของภายในประเทศไทยทั้งหมด
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ไปเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเขมร และเป็นทีมเศรษฐกิจให้กับประเทศกัมพูชานั้น อาจทำให้ไทยเสียผลประโยชน์ตลอดจนเสียเปรียบทางด้านเจรจา ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทำลายความมั่นคงของชาติ ที่นำความลับไปเปิดเผยให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะว่า พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว 26,000 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ทางด้านก๊าชและน้ำมัน ซึ่งก็จะทบทวนว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ก็ให้ประมวลว่า มีบันทึกความเข้าใจ หรือโครงการอะไรที่ให้ความช่วยเหลืออยู่ รัฐบาลเตรียมการตั้งรับ
อย่างไรเรื่องที่กัมพูชาเตรียมฟ้องว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นประเทศไทยพยายามที่จะแทรกแซงภายในของประเทศกัมพูชา การที่รัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการตอบโต้ทางการฑูตก็เพราะว่า รัฐบาลกัมพูชานั้นลบหลู่ศาลไทย และก็แทรกแซงกิจการภายในของไทย เพราะว่าการที่ไม่เคารพต่อข้อตกลงเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ด้วยการประกาศล่วงหน้าว่าจะไม่ส่งนักโทษหนีคดีซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแล้ว คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งยังกล่าวล่วงละเมิดต่อสถาบันตุลาการของไทย ถือว่าเป็นการแทรกแซงและเหยียดหยามของความเป็นศักดิ์ศรีประเทศไทย ดังนั้น ตนคิดว่าขณะนี้เป็นเรื่องที่ผู้นำกัมพูชา จะต้องทบทวนกับสิ่งที่ดำเนินการผิดพลาดมา
นายอลงกรณ์ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะมีผลกระทบและจะนำไปสู่การปิดด่านผ่านแดนไทย – กัมพูชาหรือไม่นั้น ซึ่งเรื่องนี้จะต้องรอดูสถานการณ์ความเป็นจริง โดยสมัยปี 2546 ก็เคยปิดมาแล้ว ที่มีการเผาสถานฑูตไทยในกรุงพนมเปญ ส่วนข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม 40 ส.ว.นั้น มีน้ำหนักเกี่ยวกับการตัคสินใจของรัฐบาลหรื่อไม่ นั้น รัฐบาลรับฟังทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนคนไทยที่รักชาติ ส่วนที่เป็นพวกทรยศต่อชาติต่อแผ่นดินก็ไม่รับฟัง ตอนนี้ก็เริ่มเห็นธาตุแท้กันแล้วใช่ไหมว่า ใครรักชาติหรือใครอยากเปลี่ยนโอนสัญชาติก็บอกมา ยิ่งโดยเฉพาะ น.ช.ทักษิณ ถ้าอยากเปลี่ยนโอนสัญชาติให้มันชัดเจนไปเลยว่าจะยืนอยู่กับผลประโยชน์ต่างชาติ หรือผลประโยชน์ประเทศไทยก็ให้แสดงความจำนงมาได้ รวมทั้งนายนพดล ปัทมะ (ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ)ด้วย