xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ FTA ช่องทางดีส่งออกสินค้าไทยบุกตลาดญี่ปุ่น-เกาหลี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – กรมการค้าต่างประเทศจัดสัมมนา “แข่งขันส่งออกได้ด้วยสิทธิ : อาเซียน-ญี่ปุ่นและเกาหลี” มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรจากความตกลง FTA ระหว่าง ไทยกับ ญี่ปุ่น และเกาหลี ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ชี้ เป็นโอกาสดีต่อผู้ประกอบการและสินค้าไทย เชื่อ ผักผลไม้แปรรูป-สิ่งทอมีช่องทางดี แต่ย้ำต้องเตรียมตัวให้พร้อม

วันนี้ (5 พ.ย.) กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดการสัมมนาเรื่อง “แข่งขันส่งออกได้ด้วยสิทธิ:อาเซียน-ญี่ปุ่นและเกาหลี” โดยมีนายไพโรจน์ แสงภู่วงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนาในครั้งนี้ มีซึ่งผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมประมาณ 200 คน ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่

นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การจัดการสัมมนาในครั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรจากความตกลง FTA ระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น และไทย-เกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า หรือการผลิตอย่างไรที่แสดงว่าสินค้าที่ผลิตเป็นสินค้าสัญชาติไทย เพราะแหล่งกำเนิดจะเป็นหัวใจสำคัญของการใช้สิทธิ FTA ที่ได้ลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ได้อย่างเต็มที่

รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวต่อว่า สำหรับความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2552 ถือเป็นแต้มต่อให้ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น จากเดิมที่ไทยได้ประโยชน์จากความตกลงไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยที่ญี่ปุ่นได้เปิดตลาดให้กับสินค้าไทยภายใต้ AJCEP เพิ่มขึ้น 70 รายการ

นอกจากนี้ AJCEP ยังได้ผ่อนปรนกฎแหล่งกำเนิดสินค้าให้ยืดหยุ่นกว่า JTEPA โดยอนุญาตให้นำวัตถุดิบที่ได้แหล่งกำเนิดจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และญี่ปุ่น มาสะสมได้ทุกสินค้า จากเดิมที่ต้องใช้วัตถุดิบจากไทยและญี่ปุ่นเท่านั้น

ในปี 2551 ประเทศไทยและญี่ปุ่น มีมูลค่ากาค้าระหว่างกันสูงถึงประมาณ 53,850.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.59 เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 20,085.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่า 33,765.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 13,680.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่า ความตกลง AJCEP จะกระตุ้นมูลค่าการค้าและการส่งออกระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้ขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

สำหรับความตกลงอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ต.ค.2552 โดยลด/เลิกภาษีนำเข้าและอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ซึ่งไทยได้เข้าร่วมด้วยนั้น นางอัญชนา กล่าวว่า นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยขยายการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ให้มากยิ่ง โดยในปี 2551 การค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ มีมูลค่า 10,567.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ในปี 2553 สินค้าส่งออกจากไทยไปเกาหลีกว่าร้อยละ 90 จะได้รับสิทธิพิเศษจากการที่เกาหลีจะลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ซึ่งสินค้าสำคัญไทยจะได้ประโยชน์ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ยางรถยนต์ มอเตอร์ไฟฟ้า กากน้ำตาล ปลาแช่แข็ง แผ่นชิ้นไม้อัด รองเท้ากีฬา เป็นต้น

ขณะที่ ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า โดยส่วนตัวยืนยันว่าการทำข้อตกลง FTA ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้สามารถขายสินค้าได้มากขึ้น โดยทั้งนี้ต้องยอมรับว่าร้อยละ 70 ของรายได้ประเทศไทยมาจากการทำการค้าขายระหว่างประเทศ ทั้งการนำเข้าและการส่งออก ดังนั้น FTA จึงเป็นเสมือนปัจจัยที่ช่วยขยายความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ

ดร.นิลสุวรรณ ระบุว่า ผลจากการทำ FTA นั้น จะทำให้สินค้าที่มีการซื้อขายนำเข้าและส่งออกระหว่างกันอยู่แล้วเพิ่มปริมาณขึ้นจากเดิม รวมทั้งทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าที่ไม่เคยมีการซื้อขายกันมาก่อนด้วย ตลอดจนยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและทำให้สินค้าไทยสามารถขายได้มากขึ้นด้วย

ยกตัวอย่างเช่น สินค้าไทยกับสินค้าจากสหรัฐอเมริกา ที่ส่งเข้าไปขายในญี่ปุ่น แต่เดิมสินค้าไทยได้รับการตอบรับน้อยกว่า แต่เมื่อมี FTA ลดภาษีเป็นศูนย์ ทำให้ราคาถูกกว่าและขายได้มากขึ้น เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโอกาสที่ดี เพียงแต่ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรียนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับ FTA ให้เข้าใจอย่างดีเท่านั้น เพื่อจะได้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ด้านนายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากข้อตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น และ ไทย-เกาหลีใต้ เห็นว่าช่วยสร้างโอกาสให้แก่สินค้าและบริการของไทย โดยในส่วนของ FTA ไทย-ญี่ปุ่น นั้น มองว่าสินค้าที่มีโอกาสโดยเฉพาะสำหรับสินค้าของภาคเหนือ ได้แก่ ผักผลไม้แปรรูป อัญมณี และสิ่งทอ นอกจากนั้นจะเป็นไก้ต้มสุก กุ้งแช่แข็ง เครื่องหนัง รวมไปถึงบริการธุรกิจสุขภาพ

ปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับตลาดญี่ปุ่น คือ เรื่องคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ เพราะเป็นตลาดที่มีความพิถีพันถันสูงมาก แต่หากสร้างความมั่นใจได้จะเป็นตลาดที่เหนียวแน่นมาก

ส่วน FTA ไทย-เกาหลีใต้ นั้น ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า นอกจากสินค้าชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีการส่งออกอยู่ในปัจจุบัน สินค้าที่มีโอกาสดี ได้แก่ ไม้อัด กากน้ำอ้อย กุ้งแช่งแข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง ตลอดจนธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม ซึ่งบุกทั้ง 2 ตลาดนี้ เห็นว่าจะต้องแข่งขันอย่างมากกับคู่แข่งอย่างประเทศจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมตัวให้มีความพร้อม
นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น