xs
xsm
sm
md
lg

เวทีถกปัญหา “เขื่อนปากมูล” ย้ำเขื่อนทำชุมชนแตกสลาย-วัฒนธรรมคนลุ่มน้ำพังยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - นักวิชาการ-เอ็นจีโอ เปิดวงเสวนาถกกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล ย้ำหลังสร้างเขื่อนได้ไม่คุ้มเสีย ซ้ำความเดือดร้อนชาวบ้านลุ่มน้ำถูกรัฐบาลเมิน “นพ.นิรันดร์” แนะปรับยุทธศาสตร์ต่อสู้ใหม่ ชูประเด็นสิทธิชุมชน ชาวลุ่มน้ำยันต้องเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลถาวร และรัฐต้องชดเชยการสูญเสียหลังสร้างเขื่อน ย้ำ เขื่อนปากมูลทำให้ครอบครัวล้มละลาย ชุมชนแตกสลาย วัฒนธรรมคนลุ่มน้ำถูกทำลายยับ

ปัญหาการสร้างเขื่อนปากมูล ซึ่งได้รับการอนุมัติหลังการรัฐประหารในปี 2534 เป็นบทเรียนที่ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวบ้านสมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล ได้นำเข้าวงสนทนา เพื่อวิเคราะห์แนวทางการต่อสู้กระบวนการของการเมืองภาคประชาชนกับรัฐ ซึ่งนับวันขบวนการของชาวบ้านจะอ่อนแอลง เพราะถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าทุกด้าน และส่วนหนึ่งเกิดจากความเบื่อหน่ายท้อแท้ของชาวบ้านที่มองไม่เห็นแสงสว่างแห่งชัยชนะ

ในวงสนทนา ประกอบด้วย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นักวิชาการที่ติดตามปัญหาเขื่อนปากมูล และกรรมการสิทธิมนุษยชน ต่างมีความเห็นตรงกันในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น “การสร้างเขื่อนปากมูลได้ไม่คุ้มเสีย”

จากผลการวิจัยของกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งเข้ามาศึกษาความหลากหลายและความซับซ้อนในระบบนิเวศวิทยาแม่น้ำมูลตอนปลาย พบว่า ก่อนการสร้างเขื่อนปากมูลมีพันธุ์ปลาอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำมูลรวม 265 ชนิด แต่หลังจากนั้น ปริมาณพันธุ์ปลาลดลงเหลือเพียง 170 กว่าชนิด เหตุเพราะเขื่อนปากมูลสร้างปิดปากแม่น้ำ ส่งผลให้ปิดกั้นการเดินทางขึ้นมาวางไข่ได้ตามธรรมชาติของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขง

แม้เมื่อปี 2543 กลุ่มสมัชชาคนเข้ายึดเขื่อนปากมูล กดดันให้รัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำคืนธรรมชาติให้สิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดทางให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เข้าศึกษาวิจัยผลกระทบตามลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ กระทั่งได้ผลสรุปเสนอให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนอย่างถาวร จึงสามารถแก้ผลกระทบที่เกิดกับวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำและระบบนิเวศวิทยาที่เสียหายไปหลังการสร้างเขื่อนแห่งนี้

แต่ข้อเสนอของนักวิจัยที่เสนอต่อรัฐบาล ทำได้เพียงยืดปัญหาให้ทอดยาวออกไปอีก โดยรัฐบาลมีมติ ครม.ในปี 2545 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานในช่วงน้ำหลากทุกปีๆ ละ 4 เดือน เมื่อปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข การต่อสู้ของกลุ่มสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จึงยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการถูกแทรกแซงจากกลไกจัดตั้งมวลชนในพื้นที่เข้ามาต่อสู้ชิงไหวชิงพริบในแต่ละปี

ยันต้องเปิดประตูเขื่อนถาวร-จ่ายค่าชดเชย

ผศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ผอ.ศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงการแก้ปัญหาของรัฐที่ไม่มีความชัดเจนในกรณีดังกล่าวว่า เช่น กรณีตั้งคณะทำงานวางแผนฟื้นฟูชีวิตคนลุ่มน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ตามผลการวิจัยแบบสอบถามจากชาวบ้านที่ระบุว่า ราษฎรจำนวน 6,865 คน ต้องการให้เปิดเขื่อนถาวร 3,930 คน ต้องการให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยเป็นที่ดินจำนวน 15 ไร่ แทนการประกอบอาชีพหาปลาในแม่น้ำมูล

ขณะที่ 1,343 คน มีความเห็นหากรัฐปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ต้องจ่ายค่าชดเชยผลกระทบให้ครอบครัวละ 500 บาทต่อวัน หรือให้ทุนเพื่อประกอบอาชีพครอบครัวละ 525,000 ตามมติ ครม.ปี 2540

แต่การตั้งคณะทำงานเป็นเพียงการพูดคุยในคณะทำงานชุดใหญ่ที่กระทรวงหมาดไทยตั้งขึ้น แต่ไม่มีขอบเขตอำนาจ รวมทั้งงบประมาณดำเนินงาน แนวทางและยุทธศาสตร์การทำงานของคณะทำงาน จึงไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน และยังไม่มีการหารือกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง แม้เวลาได้ผ่านเลยมาเป็นเวลานาน ซึ่งปัญหาอาจมาจากกลไกการทำงานไม่ได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

สำหรับส่วนราชการก็ทราบว่ามีภาระหน้าที่มาก สัดส่วนของนักวิชาการและชาวบ้านที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการมีจำนวนน้อย ทำให้เกิดความไม่ลงตัวของคณะทำงาน เพราะจุดประสงค์ของแผนการฟื้นฟูคือ ทำอย่างไรชาวบ้านจะเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ดังนั้นคณะกรรมการร่างแผนฟื้นฟูที่กล่าวถึง จึงไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดประโยชน์กับชุมชนได้ในทางปฏิบัติ เพราะไม่มีความชัดเจนดังกล่าว

จากผลงานการแก้ปัญหาที่ไม่ได้เดินหน้าไปไหน ทำให้ห้วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มสมัชชาคนจนได้ออกมาทวงถามความคืบหน้าเป็นระยะ ควบคู่ไปกับการอ่อนแรงลงของกระบวนการต่อสู้ของภาคประชาชน จึงได้มีการระดมความคิดกำหนดรูปแบบการต่อสู้ให้สอดคล้องในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ยุทธศาสตร์ต่อสู้ใหม่ชู “สิทธิชุมชน”

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการต่อสู้ในอนาคตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ว่า การต่อสู้ของเขื่อนปากมูลในรอบ 20 ปี สังคมได้เห็นทุนของการต่อสู้ ทั้งขบวนการต่อสู้ของภาคประชาชน ที่ลุกขึ้นสู้ในเรื่องของสิทธิชุมชนในการจัดการลุ่มน้ำ ขบวนการของนักวิชาการที่เข้ามาศึกษาองค์ความรู้ จึงถือเป็นหลักสำคัญทำให้มีแนวร่วมเรียนรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทั่งในไปสู่ขบวนการสร้างเขื่อนใหม่ ต้องมาคิดถึงเรื่องผลกระทบของชุมชน

แต่การต่อสู้ของเขื่อนปากมูลที่ยาวนานมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้านแนวคิดนโยบายการจัดการลุ่มน้ำของชุมชน จึงต้องสรุปบทเรียนใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อน โดยการขับเคลื่อนเขื่อนปากมูลต้องมียุทธศาสตร์หลัก คือ “การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของชุมชน”

ทั้งนี้ เพราะประเทศเรามีลุ่มน้ำมากมาย เช่น อีสาน มีแม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล มีชุมชนได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ จำนวนมาก จึงต้องทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่า สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญที่ชาวปากมูลต่อสู้ด้วยจิตสำนึกของการเป็นพลเมืองมาถึง 20 ปี สามารถยกระดับไปถึงการจัดระเบียบอำนาจใหม่ในสังคม เพื่อทำให้เห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองของภาคพลเมืองด้านสิทธิมนุษยชนสามารถเป็นอำนาจใหม่ไปถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง เพราะปัจจุบันอำนาจขององค์กรอิสระไม่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้

ตราบใดที่ชาวบ้านไม่สามารถสถาปนาอำนาจเรื่องสิทธิชุมชนทั้งเรื่องลุ่มน้ำ ที่ดิน ป่า และชาติพันธุ์ ให้เกิดเป็นอำนาจใหม่ที่จะถ่วงดุลอำนาจการเมือง และทุนในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ไม่ชอบธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ยุทธศาสตร์หลักในการต่อสู้ของชาวบ้านเขื่อนปากมูล จึงถือเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการต่อสู้ต่อไป

จากยุทธศาสตร์หลักที่ทำให้กลุ่มสมัชชาคนจน มีอำนาจนำไปต่อสู้ทวงถามความเป็นธรรมจากผลกระทบที่เกิดขึ้นของคนลุ่มน้ำมูลแล้ว ยังมียุทธศาสตร์รอง คือ การวางระบบการทำงานในพื้นที่ ให้เกิดความชัดเจนของศักยภาพการทำงาน การวางระบบกฎหมายเพื่อประชาชน เพราะเมื่อชุมชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญใครละเมิดสิทธิทั้งรัฐและทุน ตุลาการภิวัฒน์ต้องเข้ามามีบทบาท

ประการต่อมา คือ การทำงานเชิงนโยบาย เพราะ 6 ปีที่ผ่านมา ครม.มีนโยบายเปิดประตูเขื่อน 4 เดือน และปิด 8 เดือน แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหา จึงต้องทบทวนนโยบายการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชน ประการสุดท้ายคือการสื่อสารสาธารณะ เพื่อใช้บอกกับสังคมว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ของเขื่อนปากมูลยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา ให้สังคมเข้าใจว่าสิ่งดังกล่าวคือรากฐานของปัญหาความยากจน ความเลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ แทนจะมองประชาชนที่เรียกร้องต้องการเงินอย่างเดียว เพราะถ้าสังคมไม่เข้าใจก็จะต่อต้านและทำให้แตกแยกทางความคิด

ด้านนายสมเกียรติ พ้นภัย แกนนำชาวบ้านปากมูลได้ให้มุมมองความเห็นของข้อเรียกร้องไว้ว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ 20 ปีที่ผ่านมา มองการแก้ปัญหาของรัฐเหมือนไม่มีความจริงใจรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้น “หลายครั้งที่ชาวบ้านเดินไปบอกถึงทำเนียบรัฐบาลในหลายรัฐบาล แต่ไม่มีแนวทางใช้แก้ปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรม สายตาของชาวบ้านเลยมองว่ารัฐไม่จริงใจ เพราะถ้ารัฐบาลมีความจริงใจปัญหาของชาวบ้านปากมูลแก้ไม่ยาก”

ทั้งนี้ เพราะทุกเรื่องมีผลการศึกษาวิจัยจากหลายสถาบันสรุปให้เห็นปัญหา คณะกรรมการเขื่อนโลกก็ยังสรุปว่า เขื่อนปากมูลไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจน่าจะยกเลิกใช้งานได้แล้ว สำหรับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็สรุปชัดเจนไม่มีแนวทางอื่นแก้ไขปัญหาดีกว่าการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานตลอดทั้งปี

ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาคนจน ก็ยังเดินตามแนวทางเดิม คือ การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลถาวร และรัฐต้องชดเชยการสูญเสียหลังจากการสร้างเขื่อน เพราะเขื่อนปากมูลทำให้ครอบครัวล้มละลาย ชุมชนแตกสลาย วัฒนธรรมคนลุ่มน้ำถูกทำลายจนหมดไป นายสมเกียรติ กล่าวให้ความเห็น

กระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูลกับรัฐ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คงไม่บอกว่าใครผิดหรือถูก เพราะขณะนี้เขื่อนปากมูลได้สร้างขึ้นมาสมดังประสงค์ตามนโยบาย และชาวบ้านก็ต้องเดินหน้าสู้ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับปากท้องของคนลุ่มน้ำที่มากับเขื่อนแห่งนี้ เพียงผู้กุมนโยบายรัฐเข้าใจปัญหา การเดินขบวนเรียกร้องก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อทุกฝ่ายมีที่ยืนเหลือให้แก่กันบ้าง




ายสมเกียรติ พ้นภัย แกนนำชาวบ้านปากมูล
กำลังโหลดความคิดเห็น