xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกรุแฟนพันธุ์แท้ “มิตร ชัยบัญชา”-ศูนย์รวมโปสเตอร์หนัง 16 มม.ในตำนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - เปิดกรุพิพิธภัณฑ์ “มิตร ชัยบัญชา” กลางเมืองสองแคว ตำนานเล่าขานพระเอกหนังแผ่นฟิล์ม 16 มม.รำลึกครบรอบ 39 ปี กับฉากสุดท้าย “อินทรีทอง” ความเฮี้ยนที่เล่าขาน ตำนานแบงก์กรุงเทพฯสาขาสะพานผ่านฟ้า กับปาฏิหาริย์ วิญญาณ “มิตร” ที่ต้องการสร้าง “โรงภาพยนตร์ชัยบัญชา“ แต่วันนี้ยังเป็นแค่ “ศูนย์สังคีตศิลป์”

ที่บ้านเลขที่ 37/4 หมู่ 4 ต อรัญญิก อ.เมืองพิษณุโลก ของนายบัญชา วาจาสุวรรณ ช่างภาพ ททบ.5 ศูนย์ข่าวพิษณุโลก ถือเป็นบ้านนักสะสมแผ่นโปรสเตอร์ - ของเก่าต่างๆ ในยุคหนังไทย 16 มม.จำนวนมาก ภาพส่วนใหญ่ที่ตั้งโชว์อยู่ คือ คู่พระคู่นาง “มิตร-เพชรา” พระเอกคนดัง ที่ถือเป็นฮีโร่ในดวงใจของเจ้าบ้าน ซึ่งถูกเก็บสะสมอย่างดี แม้เวลาผ่านไปเกือบ 40 ปี

สีสันและเรื่องราวบนโปสเตอร์ย้อนยุค ยังดูมีชีวิตกับดาราร่วมสมัยอีกหลายคน ทว่า “มิตร ชัยบัญชา”ไม่อาจ ฝืนโชคชะตา ฟ้าลิขิต คนดังไม่สามารถอยู่ค้ำฟ้า อายุสั้นเพียง 36 ปี ตกเฮลิคอปเตอร์เสียชีวิต ขณะถ่ายภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” เมื่อ 8 ตุลาคม 2513 เวลา 16.21 น.ที่พัทยาใต้

นายบัญชา กล่าวว่า เขาชื่นชอบ มิตร ชัยบัญชา เพราะชีวิตที่ไม่ธรรมดา ดิ้นรนต่อสู้ชีวิต กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็กเหมือนกับเขา แต่ก็นำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จเป็นที่รักใคร่ของคนทั้งประเทศ ทำให้ผมนับถือ และเก็บสะสมภาพโปสเตอร์ มิตร แต่ไม่เคยฝันหรือมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น

ทั้งนี้ หากย้อนดูประวัติของ มิตร ชัยบัญชา พบว่า เกิด 28 มกราคม 2477 ที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี กำพร้าพ่อ-แม่ตั้งแต่เกิด จนถูกตั้งชื่อว่า “ไอ้บุญทิ้ง”(นามสกุลระวีแสง) อยู่กับปู่และย่า กระทั่งก่อนปู่-ย่า จะลาสังขาร ได้นำ บุญทิ้ง ไปฝากเณรเลี้ยง จนกลายเป็นเด็กวัดสายค้านท่ากระเทียม อ.ท่ายาง เพชรบุรี

บุญทิ้ง อาศัยกินกล้วยตั้งแต่ 2 ขวบและกินข้าวก้นบาตรจนถึง 8 ขวบ จึงเดินทางเข้ากรุงเทพ อาศัยกับน้าที่ “วัดแค นางเลิ้ง” กระทั่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น”สุพิศ นิลศรีทอง”เรียนหนังสือที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “พิเชษฐ์ พุ่มเหม” เป็นศิษย์การบินของกองทัพอากาศ แต่ไปไม่ถึงดวงดาว ถูกลงโทษ/ไล่ออก ด้วยข้ออ้างอยู่เวรยาม ปล่อยให้เพื่อนทหารนำเครื่องบินไปลาว

แต่ด้วยความมานะ สามารถรับราชการอีกครั้ง ที่กองพันต่อสู้อากาศยาน ดอนเมือง ติดยศ จ่าอากาศโท เมื่อปี 2499 ก่อน “จ่าเชษฐ์” จะติดยศพันจ่าอากาศเอก ก็ลาออกเสียก่อนเมื่อปี 2506 เพราะช่วงนั้น กำลังก้าวเข้าสู่วงการหนังแล้วเมื่อปลายปี 2499 โดยใช้ชื่อ “มิตร ชัยบัญชา”

“มิตร” แสดงหนังเรื่องแรก“ชาติเสือ”จากนั้นก็เล่นเป็นพระเอกกว่า 260 เรื่อง เล่นหนัง 35 มม.เพียงไม่กี่เรื่อง เคยได้รับรางวัล ดาราทองพระราชทาน ปี 2509 จากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย

วาระสุดท้ายของ “มิตร” มาถึงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ฮ.ตก ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ที่แหลมไม้รวก พัทยาใต้ อ.บางระมุง จ.ชลบุรี และได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อ 21 มกราคม 2514 ท่ามกลางประชาชนนับแสนคน ถือเป็นสามัญชนคนแรกที่มีคนรักและอาลัยมากที่สุด

คนในวงการสายหนังหลายคนในพิษณุโลก บอกเล่าว่า ยุคสมัยหนัง 16 มม.เป็นหนังพากย์สด กรณี“มิตร ชัยบัญชา“ ถือว่าดวงถึงฆาตจริง ๆ ระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง “อินทรีย์ทอง” ฉากปราบปราบเหล่าร้าย ปิดท้ายบทรักกับ “เพชรา เชาวราษฎร์” ฉากของ มิตร กำลังอาลานางเอกและผู้ชมคนทั้งประเทศ โดยโหนบันไดเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเข้าฉากสุดท้ายพร้อมขึ้นคำว่า สวัสดี แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝัน หนุ่มรูปหล่อ ตาคม แต่สภาพร่างกายอ่อนล้า ประกอบกับแรงกระตุกของเครื่องบิน ทำให้แขนทั้งสองที่เกาะบันได ไม่สามารถแบกรับน้ำหนักตัวเองได้ ร่วงลงกับพื้น

หลังเสียชีวิต แรงปาฏิหาริย์ วิญญาณและความเฮี้ยนของ “มิตร ชัยบัญชา” ยังเป็นที่เล่าขาน แม้เสียชีวิตไปนานแล้วก็ตาม

ทั้งเรื่องเล่าที่ว่า หากใครขึ้นไปธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาสะพานผ่านฟ้า จะเห็นรูป “มิตร ชัยบัญชา” แปะอยู่ เพราะนั่นคือความฝันของมิตร ที่จะสร้าง “โรงภาพยนตร์ชัยบัญชา” บนที่ดินผืนนี้ ซึ่ง “มิตร” ขายที่ดิน จ.สระบุรี และจำนองบ้าน 3 หลังที่กรุงเทพฯพร้อมยืมเงินพรรคพวกจนได้เงิน 7.3 ล้านบาทเพื่อซื้อที่ดิน 415 ตารางวาบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้า แต่ทุกอย่างล้มครืน แม้ว่าเตรียมงานและทำพิธีทางศาสนาไปแล้ว ทำให้ที่ดินขายฝากตกเป็นของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ความรักและหวงแหน ที่ดินที่เตรียมไว้โรงหนังไทยของวิญญาณ มิตร ทำให้คนงานก่อสร้างผวา ตกเสาเข็มไม่ได้ ระหว่างก่อสร้างธนาคาร หลายต่อหลายครั้งคนของแบงก์กรุงเทพ ก็บวงสรวงบอกกล่าววิญญาณมิตร แต่ก็ล้างอาถรรพณ์ไม่สำเร็จ

กระทั่งพนักงานธนาคารกรุงเทพ ปรึกษาคนใกล้ชิดมิตร ชัยบัญชา ว่า น่าทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้เคล็ด จึงเป็นที่มาของ “ศูนย์สังคีตศิลป์” บนชั้น 3 และชั้น 4 ของธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า จนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น จึงต้องมีภาพ “มิตร ชัยบัญชา” ติดข้างฝา จนยุคนั้นคนทั่วไปเรียกว่า “ธนาคารมิตร ชัยบัญชา”

จากนั้นวิญญาณของมิตร ก็แสดงปาฏิหาริย์ ให้โชคกับพนักงานแบงก์แห่งนี้ ถูกหวยบ่อยครั้ง





กำลังโหลดความคิดเห็น