พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ (อาคาร1) ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันก่อน โดยมี ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ “เล่าเรื่องแบงก์ชาติด้วยภาพ” จากนั้นทรงทอดพระเนตรนิทรรศการ ความเป็นมาของการก่อสร้างอาคาร ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างรวม 4 ปี มีพื้นที่ใช้สอย 85,856 ตร.ม. ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงาน 5 ชั้น และที่จอดรถชั้นใต้ดิน 4 ชั้น โครงสร้างอาคารเรียบง่าย ทันสมัย เน้นประโยชน์การใช้สอย และทอดพระเนตรหอสมุดและจดหมายเหตุอย่างสนพระทัย
สำหรับอาคารหลังนี้มีการออกแบบให้ประหยัดพลังงาน ด้วยการดีไซน์ให้แสงส่องผ่านเข้ามาในตัวอาคารได้ทั่วถึง กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์โดยรอบ เพื่อสอดรับกับแนวอาคารทิศตะวันตกที่เปรียบเสมือนเป็นฉากหลัง ซึ่งเชื่อมมุมมองระหว่างวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวศม์อย่างต่อเนื่อง สอดประสานร่วมกับอาคารหลังต่างๆ ภายในรั้วแบงก์ชาติได้อย่างกลมกลืน
ในพิธีเปิดอาคารหลังใหม่นั้น พนักงานแบงก์ชาติต่างพร้อมใจกันเฝ้ารอรับเสด็จ นำทีมโดย ผู้ว่าการและอดีตผู้ว่าการ ธปท. อาทิ กำจร สถิรกุล,วิจิตร สุพินิจ,ดร.เสนาะ อูนากูล,ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งต่างก็ทักทายกันด้วยรอยยิ้ม บ้างสวมกอดและถามไถ่ทุกข์-สุข และสุขภาพของกันและกัน นับเป็นความประทับใจที่พนักงานแบงก์ชาติในขณะนี้ได้มีโอกาสพบเจออดีตผู้หลักผู้ใหญ่ของหน่วยงาน ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการไปแล้วหลายปี
ด้าน กรองทอง ชุติมา วัย 93 ปี หรือที่ชาวแบงก์ชาติ เรียกขานกันว่า คุณย่ากรองทอง อดีตพนักงานแบงก์ชาติสมัยท่านผู้ว่าการฯ เล้ง ศรีสมวงศ์ ซึ่งเคยร่วมงานกับคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร เป็นอีกท่านหนึ่งที่มาร่วมงาน คุณย่ากรองทอง เล่าว่า ทำงานที่แบงก์ชาติ มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นอาคารหลังแรก ยังเป็นอาคารเล็กๆ จำนวนพนักงานยังมีไม่มาก เรียกได้ว่ารุ่นนั้น ภารกิจของเราคือไพโอเนียร์จ็อบ ทุกอย่างเพิ่งเริ่มต้น เสร็จจากงานก็ต้องไปช่วยกันจัดห้องสมุดที่มีตำราต่างๆ อยู่เพียงไม่กี่เล่ม จนเดี๋ยวนี้กลายเป็นหอสมุดที่กว้างใหญ่ ได้อยู่ทันเห็นการเติบโตขององค์กรที่ผูกพันและภาคภูมิใจในตลอดชีวิตการทำงาน
“ภูมิใจในงานของเรา ที่ได้เป็นผู้ตรวจสอบ ไปที่ไหนๆ นายแบงก์ส่วนใหญ่ก็จะต้อนรับขับสู้เราดี แต่เป็นสิ่งที่เรารับไว้ไม่ได้ ที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้ง ความประทับใจของคนแบงก์ชาติก็เกิดขึ้นจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จากการที่ได้ออกไปทำงานตามต่างจังหวัด ไปในฐานะผู้ตรวจสอบ แต่กลับต้องไปนั่งกินแบบยองยองเหลา เพราะโดยหน้าที่และจรรยาบรรณ เรารับความหวังดีจากนายแบงก์ที่เขาตั้งใจจะเลี้ยงรับรองเราอย่างดีเหล่านั้นไว้ไม่ได้ ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจอย่างมากว่า ถึงจะเป็นเรื่องแค่นี้ คนแบงก์ชาติ...ก็ไม่มีใครมาซื้อเราได้”
ส่วนที่มาของหนังสือ “เล่าเรื่องแบงก์ชาติด้วยภาพ” จารึกเล่มประวัติศาสตร์ของชาวแบงก์ชาติโดยดำเนินเรื่องด้วยภาพ ทั้งที่ได้รับความอนุเคราะห์ภาพเกี่ยวกับธนาคารจากผู้บริหารและพนักงาน ถูกจัดทำขึ้นในรูปเล่มที่สวยงามปกหุ้มด้วยฟรอยด์สีทอง โชว์ภาพมุมสูงทางอากาศของพื้นที่แบงก์ชาติ ที่โดดเด่นด้วยอาคารหลักทั้ง 4 ได้แก่ วังบางขุนพรหม สำนักงานใหญ่ อาคาร 1 (หลังใหม่) สำนักงานใหญ่ (อาคาร 2 หลังเดิม) และ วังเทวะเวศม์ ภายในบรรรจุเรื่องราวของธนาคารแห่งประเทศไทยไว้อย่างครบถ้วน ลำดับเหตุการณ์ตลอดระยะเวลา 67 ปี ที่ผ่านมา
แบ่งเนื้อหาออกเป็น 10 บท ตั้งแต่การก่อตั้งสำนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2483 และการพัฒนาต่อมาเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2485 การย้ายที่ทำการจากสี่พระยามายังตำหนักบางขุนพรหม ภารกิจและบทบาทในฐานะธนาคารกลางของประเทศ รวมถึงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งนำโดยผู้ว่าการฯ ในแต่ละยุคสมัย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการมีส่วนร่วมเกื้อกูลสังคม จนถึงก้าวต่อไปของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มุ่งมั่นเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ยังได้สอดแทรกชีวิตของคนแบงก์ชาติในรั้วรอบขอบวัง อันสะท้อนถึงปรัชญาการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข และดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมของธนาคารกลาง วัฒนธรรมองค์กรที่แทรกซึมลึกอยู่ในหัวใจของคนแบงก์ชาติเรื่อยมา