xs
xsm
sm
md
lg

"ผู้นำท้องถิ่นเกาะกูด" รวมตัวค้านนายทุน - หวั่นกระทบต่อธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเทเวศน์  วัฒนา  อดีตกำนันตำบลเกาะกูด
ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้นำท้องถิ่นบนเกาะกูด จังหวัดตราด รวมตัวค้านนายทุนต่างถิ่นทั้งไทยและต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยังสมบูรณ์อยู่ แฉที่ผ่านมามีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบมาแล้วจำนวนมาก

นายวิชิต ไทรทอง กำนันตำบลเกาะกูด จังหวัดตราด เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มนายทุนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเต้นขออนุญาตสร้างสนามบินโดยสาร การขอสัมปทานรถโดยสาร การขออนุญาตสร้างท่าเทียบเรือเฟอรี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจได้มีการทำประชาวิจารณ์ สอบถามความเห็นของชาวบ้านเกาะกูดก่อน โดยเฉพาะรถโดยสารที่จะมีกลุ่มนายทุนมาขอทำสัมปทาน ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านเกาะกูดก็เห็นว่าสามารถทำเองได้และถือเป็นการสร้างงานให้กับชุมชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

ด้านนายเทเวศน์ วัฒนา อดีตกำนันตำบลเกาะกูด กล่าวว่า ตนก็มีความเป็นห่วงอยู่เหมือนกันว่าในอนาคตข้างหน้าเมื่อมีนักลงทุนจากต่างถิ่นเข้ามากันมากเรื่อยๆ สภาพของธรรมชาติที่สมบูรณ์เช่นนี้จะเป็นอย่างไร โดยคนในท้องถิ่นเองก็มั่นใจว่า ไม่มีใครคิดที่จะทำลายธรรมชาติที่ประกอบธุรกิจรีสอร์ท เพราะทำแบบครอบครัวสร้างกันเป็นหลังขนาดเล็ก มีจำนวนจำกัด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ชาวเกาะกูด ไม่ต้องการเป็นเหมือนเกาะช้างและก็ไม่ต้องการให้มีเรือเฟอร์รี่บรรทุกรถยนต์ขึ้นบนเกาะกูดด้วย

ปัจจุบันเกาะกูดมีรถยนต์ของชาวบ้านประมาณ 60 คันก็น่าจะเพียงพอแล้ว เมื่อเทียบกับถนนที่ใช้สัญจรไปมา ถ้าหากว่ามีรถยนต์ขึ้นมาวิ่งบนเกาะกูดมากขึ้นเรื่อยๆ เกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เนื่องจากถนนแคบมีความคดเคี้ยวและเป็นเนินเขาต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง

นายพงศภัค จันทร์อบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด จังหวัดตราด กล่าวว่า ถึงแม้ความเจริญด้านสาธารณูปโภคในด้านต่าง ๆ บนเกาะกูดจะยังเข้าไปไม่ทั่วถึง แต่บนเกาะแห่งนี้ก็มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างครบวงจรไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล น้ำตกหาดทรายที่สวยงาม มีแนวปะการัง หญ้าทะเลหลากหลายชนิดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยรอบเกาะกูด ผู้ที่ชอบการดำน้ำชมธรรมชาติใต้ท้องทะเลจะสามารถเลือกได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก

สาเหตุที่พูดได้เช่นนี้และกล้าที่รับรองถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติก็เนื่องมาจากการเดินทางจากฝั่งต้องใช้เวลานาน 3-4 ชั่วโมง ถ้าช่วงมรสุมคลื่นลมในทะเลก็จะแรงมากบางทีก็จะงดการเดินเรือชั่วคราวแต่ในปัจจุบันการเดินทางเริ่มจะสะดวกมากขึ้นมีทั้งเรือสปีดโบ๊ทที่มีความเร็วสูงและเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่รองรับผู้โดยสารได้สูงถึงกว่า 100 คนใช้เวลาเดินทางจากท่าเทียบเรือแหลมศอก ต.อ่าวใหญ่ ถึงเกาะกูดก็ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ทำให้นักลงทุนทั้งหลายหรือผู้ที่เล็งเห็นผลกำไรในการซื้อขายที่ดินต่างก็มุ่งหน้าไปที่เกาะกูดเพื่อกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน แต่ต้องพบอุปสรรคที่ดินของชาวบ้านส่วนใหญ่จะยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครองยังรอการพิสูจน์สิทธิอยู่ในขณะนี้

ในส่วนนักลงทุนที่มีทุนหนาบางรายที่ซื้อที่ดินบริเวณริมทะเลไว้นานแล้วต่างก็พยายามวิ่งเต้นระดับบนขอก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ท่าเรือเฟอร์รี่ บริเวณอ่าวสลัด หมู่ที่ 6 ต.เกาะกูด และจะทำการตัดถนนผ่านป่าที่อุดมสมบูรณ์อีก แต่ทางประชาชนและผู้นำท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยโดยได้มีการทำประชาคมระดับตำบลไปแล้ว แต่นักลงทุนรายเดิมก็ยังพยายามหาทางทำทุกวิธีเพื่อจะทำการก่อสร้างท่าเทียบเรือให้ได้

ทีมข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่และพูดคุยกับนายมนตรี มะลิย้อย สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด เขตอำเภอเกาะกูด ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า ถึงจะมีชาวบ้านอีกจำนวนมากกว่า 70% ที่ไม่มีเอกสารสิทธิในการครอบครองที่ดินทั้งๆ ที่อาศัยอยู่กันมานานปลูกต้นไม้ ต้นมะพร้าว อายุราว 40-50 ปี บนที่ดินที่ทำมาหากิน ตั้งแต่รุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ไม่ได้ไปซื้อมาเป็นต้นขนาดใหญ่เหมือนนายทุนแล้วนำมาปลูก เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่

แต่พวกเขาก็ต้องรอการพิสูจน์สิทธิ์ไปเรื่อยๆ ยังคาดหวังไม่ได้มากนักว่าจะออกมาอย่างไรในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีกลุ่มคนที่พอจะมีฐานะและนายทุนพยายามเดินเรื่องเพื่อขอออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบนเกาะกูดอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลปลายปี 2551 พบว่ามีผู้ถือเอกสารสิทธิที่ดินแยกเป็นแต่ละประเภทดังนี้ ประเภท สค.1 จำนวน 68 ราย ประเภท ภบท.5จำนวน 215 ราย ประเภท นส.3 ก.จำนวน 51 ราย

ล่าสุดเดือนกันยายน 2552 ทีมข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลจากสำนักที่ดิน จ.ตราด พบว่าบนเกาะกูด เกาะหมาก มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากดังต่อไปนี้ โฉนดที่ดิน 279 แปลง นส.3 ก.228 แปลง สค.1 จำนวน 41 แปลง และที่มีการยื่นเรื่องไว้แล้วแต่ยังรอการตรวจสอบเอกสารเพื่อออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดอีกนับร้อยแปลง

ทีมข่าวได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน จ.ตราดว่า ในช่วงปี 2552 นี้จะเห็นได้ว่ามีการยื่นขอเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะกูดกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะพิจารณาตรวจสอบเอกสารกันอย่างถ้วนถี่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เพราะเคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วที่เกาะช้าง ที่มีการนำเอกสาร สค.1 มาทับที่หลวงแล้วก็ยื่นขอออกโฉนด

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าหมู่เกาะต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติกว่า 52 เกาะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เกาะเหลายา

เมื่อช่วงปี 2544 เกาะช้างได้รับงบประมาณจากรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีลงมาพัฒนาในด้านต่างๆ รวมแล้วกว่า 500 ล้านบาทในขณะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่างก็ได้มีการวางแผนหามาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ตลอด จนที่ดินสาธารณะประโยชน์ต้องไม่มีการบุกรุกโดยเด็ดขาด มีการจัดเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานช่วยกันเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.พื้นที่ไหนที่ทหารเรือขอใช้ประโยชน์ก็มีกำลังทหารนาวิกโยธินคอยดูแล

แต่ในช่วงระยะเวลาที่เกาะช้างจะได้รับงบประมาณในการพัฒนาสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมๆ กันก็คือ การบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติจากนายทุน เพื่อก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท บังกะโล มีการขุดดินถมดินลงในทะเล เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ ส่วนมากจะเป็นนักลงทุนจากที่อื่น หรือชาวต่างชาติ ที่มากไปกว่านั้นช่วงที่ที่ดินบนเกาะช้างมีราคาแพงก็มีการร่วมมือกันระหว่างนายทุนและเจ้าหน้าที่ของรัฐบางกลุ่มนำเอกสาร สค.1 ไปทับที่ดินสาธารณะแล้วก็ออกเอกสารสิทธิ นส.3 ก.และโฉนด แล้วก็ขายต่อกันเป็นทอดๆ ไร่ละ 3,000,000-10,000,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับทำเลมีอยู่หลายแปลง

พอเริ่มมีการปรับพื้นที่เพื่อจะทำการก่อสร้างก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมและสั่งระงับห้ามทำการก่อสร้างปัญหาการฟ้องร้องก็เกิดขึ้น มีทั้งที่เจตนาบุกรุกเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และซื้อต่อมาอีกทอดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มารู้ภายหลังก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว มีตัวอย่างให้เห็นอยู่หลายสิบราย เช่น บนเกาะช้างถูกแจ้งความดำเนินคดี เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดตราดในขณะที่ที่ดินบนเกาะช้างแทบไม่มีพื้นที่ให้บุกรุกได้อีกแล้ว เพราะมีการดูแลอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายมนตรี กล่าวต่อว่า นายทุนทั้งหลายที่เล็งเห็นผลประโยชน์กำไรในการซื้อ-ขายที่ดินตามแหล่งท่องเที่ยวก็พุ่งเป้าไปที่เกาะกูด เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจังหวัดตราด รองจากเกาะช้าง ปัจจุบันเกาะแห่งนี้ยังคงมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มากเป็นแหล่งที่นักลงทุนและผู้ชื่นชอบความเป็นธรรมชาติต้องการเข้าไปเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินเพื่อทำธุรกิจด้านโรงแรม รีสอร์ท และบ้านพักตากอากาศ

"จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติได้ทุ่มทุนหลายพันล้านบาทก่อสร้างโรงแรมหรูบ้านพักตาก อยู่ที่บริเวณอ่าวสลักอวน ม.4 ต.เกาะกูด การก่อสร้างตัวอาคารก็ใกล้จะเสร็จเกือบหมดแล้วโดยจะเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวราวสิ้นปี 2552 นี้"
เกาะกูด
สิ่งก่อสร้างบนเกาะกูด
ขยะ ที่มาพร้อมกับการพัฒนา บนเกาะกูด
กำลังโหลดความคิดเห็น