ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- โคราชแหล่งปลูกมันฯใหญ่สุดของไทย ระดมเครียดหาทางฝ่าวิกฤต“เพลี้ยแป้ง” ระบาดไม่หยุด ล่าสุดอาละวาดหนักระลอก 2 ขยายวงกว้างคลุม 21 อำเภอ กินพื้นที่ร่วม 2 แสนไร่ ชาวไร่น้ำตาร่วงสูญแล้วกว่า 600 ล้าน คาดผลผลิตลดฮวบอีกเฉียด 1 ล้านตัน เหลือไม่เกิน 7 ล้านตัน หวั่นโรงงานแป้ง-ลานมันเปิดศึกแย่งวัตถุดิบและเกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์มันฯ เผยบางพื้นที่ต้องนำเข้าท่อนพันธุ์มันฯจากเขมรแล้ว
ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานสนับสนุนพัฒนาคุณภาพและปริมาณมันสำปะหลังจังหวัดนครราชสีมา โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งนักวิชาการ และเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเข้าร่วมประชุมกว่า 70 คน
ทั้งนี้ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การผลิต ผลกระทบจากการระบาดของเพลี้ยแป้งและแนวโน้มราคามันสำปะหลัง ฤดูกาลผลิตปี 2552/53 รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังใน จ.นครราชสีมา ที่กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนักจากระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันฯอย่างรุนแรงเป็นระลอกที่ 2 อยู่ในขณะนี้
นายสวัสดิ์ บึงไกร เกษตรจังหวัดนครราชสีมา รายงานต่อที่ประชุมว่า จากการสำรวจล่าสุดของฤดูกาลผลิตปี 2552/53 นี้ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังรวมทั้งจังหวัด 1.98 ล้านไร่ จำนวนเกษตรกรเพาะปลูก 8.3 หมื่นราย คาดว่าจะมีผลผลิตรวมประมาณ 7.9 ล้านตัน แต่ปีนี้มีการระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลังรุนแรง ซึ่งระบาดรอบแรกช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายโดยสิ้นเชิงให้กับมันสำปะหลังกว่า 5 หมื่นไร่
ขณะนี้เพลี้ยแป้งได้กลับมาระบาดในรอบ 2 อีก จากการสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา พบการระบาดเพลี้ยแป้งแล้วในพื้นที่ 21 อำเภอ รวมพื้นที่เพาะปลูก 198,638 ไร่ รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 600 ล้านบาทในจำนวนนี้อำเภอที่พบการระบาดเป็นพื้นที่กว้าง ได้แก่ อ.ด่านขุนทด ระบาด 75,000 ไร่, อ.เสิงสาง 24,479 ไร่, อ.หนองบุญมาก 23,995 ไร่, อ.ครบุรี 22,200 ไร่, อ.เทพารักษ์ 16,324 ไร่ และ อ.สีคิ้ว 13,136 ไร่
ทั้งนี้ แบ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้ 164,992 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง 33,646 ไร่ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นพื้นที่เก่าที่เคยพบการระบาด 15,141 ไร่ และพื้นที่ใหม่ 18,505 ไร่ คาดว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะลดลงอีกร่วม 9 แสนตัน ส่งผลให้ผลผลิตรวมจ.นครราชสีมาฤดูกาลผลิต 2552/53 นี้ ลดลงเหลือ 7 ล้านตัน จากตัวเลขประมาณการเดิม 7.9 ล้านตัน
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก คือ ระยะฝนทิ้งช่วงที่ใกล้จะมาถึงหลังปีใหม่นี้ เพลี้ยแป้งจะระบาดหนักมากขึ้นเนื่องจากสภาพอาการเอื้ออำนาย ถือเป็นปัญหาใหญ่ หากควบคุมไม่ได้ อาจส่งผลต่อการขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังและผลผลิตที่จะออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการโรงงานแป้งและลานมันฯ” นายสวัสดิ์ กล่าว
ด้านตัวแทนสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มถอดใจกับปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้ง เนื่องจากสารเคมีที่ส่วนราชการแนะนำให้นั้นใช้ไม่ได้ผลและกำจัดไม่ แม้ฉีดพ่นแล้วแต่เพลี้ยแป้งชนิดใหม่นี้ก็ไม่หมดไป จึงรอเพียงการถอนทำลายทิ้งเท่านั้น
ฉะนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากขณะนี้คือ ผลผลิตที่จะป้อนให้กับทางโรงงานแป้งและลานมันฯ จะไม่เพียงพอ อีกทั้งท่อนพันธุ์มันฯ ที่จะใช้ปลูกในฤดูกาลผลิตต่อไปต้องปัญหาขาดแคลนถึงขั้นวิกฤตอย่างแน่นอน
“ตอนนี้ทราบว่าเกษตรกรบางส่วนต้องสั่งนำเข้าท่อนพันธุ์มันฯ จากกัมพูชามาปลูกแล้ว เนื่องจากในประเทศไทยหาซื้อไม่ได้แล้วเพราะพื้นที่เพาะปลูกทุกจังหวัดประสบปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดหนักและควบคุมไม่อยู่เช่นกัน ทั้งที่เมื่อก่อนมีแต่กัมพูชาเท่านั้นที่สั่งซื้อท่อนพันธุ์มันฯจากไทย ฉะนั้นหากไม่มีมาตรการกำจัดเพลี้ยแป้งอย่างจริงจังและได้ผล สถานการณ์อุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยทั้งระบบจะตกอยู่ในภาวะที่ลำบากแน่” ตัวแทนสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันฯ กล่าวย้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง ตัวแทนภาคเกษตรกร จากกฤษณาฟาร์ม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ได้ต่อว่าคณะทำงานระดับจังหวัดฯ ในที่ประชุมว่า ส่วนราชการไม่เคยลงพื้นที่ไปดูของจริงว่าเกษตรกรเขาเดือดร้อนหนักหนาสาหัสอย่างไร ดีแต่กางเอกสารและนั่งคุยกันในห้องแอร์เท่านั้น
นายประจักษ์ ในฐานะประธานที่ประชุมได้ตอบโต้สวนทันควันว่า เป็นคำพูดที่แรงไปหน่อย เพราะทุกหน่วยงานก็ได้ลงไปดูปัญหาลงพื้นที่ตลอด พร้อมแสดงความไม่พอใจกับคำพูดดังกล่าว จนตัวแทนเกษตรกรจากกฤษณาฟาร์มต้องกล่าวคำขอโทษ ยิ่งทำให้บรรยากาศในที่ประชุมตึงเครียดมากขึ้น
อีกทั้งบางคนถึงกลับเสนอให้ใช้มาตรการป้องกัน และกำจัดเพลี้ยแป้งระบาดขั้นเด็ดขาดเช่นเดียวกับการแก้ปัญหาไข้หวัดนกระบาดในสัตว์ปีก คือ พบเพลี้ยแป้งระบาดพื้นที่ใดให้ทำลายฝังเผาทำลายทิ้งทันทีเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด แต่นักวิชาการไม่เห็นด้วยเพราะปัญหาแตกต่างกัน ไร่มันสำปะหลังที่เพลี้ยแป้งระบาดมีหลายระดับ มีวิธีสามารถควบคุม กำจัด และฟื้นฟูได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำลายทั้งหมด หากเกษตรกรให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง
คู่มือปราบ“เพลี้ยแป้ง”
ศัตรูร้ายชาวไร่มันฯ
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ได้กำหนด “ยุทธศาสตร์ป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง จ.นครราชสีมา” ครบวงจรแบ่งเป็น 3 ยุทธศาสตร์ต่อกรปราบศัตรูร้ายหมายเลขหนึ่งในไร่มันฯ ที่เกษตรกรควรให้ความร่วมมือ และดำเนินการอย่างจริงจัง ประกอบด้วย
กลยุทธ์ที่ 1 ป้องกัน/ควบคุมไม่ให้เพลี้ยแป้งกระจายไปสู่แหล่งปลูกอื่นๆ
1.1ไม่เคลื่อนย้ายต้นพันธุ์จากแหล่งระบาด
1.2.ทำลายท่อนพันธุ์ที่เพลี้ยระบาดรุนแรง (เผา/ฝัง)
1.3 ก่อนปลูกแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมี
กลยุทธ์ที่ 2 กำจัดเพลี้ยแป้งในพื้นที่ระบาดให้หมดไป สำรวจ แยกช่วงอายุมันสำปะหลังและดำเนินการดังนี้
2.1 อายุ1-4 เดือน ถอนต้น เผา/ฝัง ไถกลบลงดิน
2.2 อายุ 5-8 เดือน กำจัดโดยวิธีผสมผสาน-ชีววิธี (เชื้อรา,ตัวห้ำ,ตัวเบียน) และ ใช้สารเคมีฉีดพ่น
2.3 อายุมากกว่า 8 เดือนขึ้นไป เก็บเกี่ยวและเผาทำลายลำต้น
กลยุทธ์ที่ 3 ช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรในพืชเสียหาย
3.1 สำรวจ/พิจารณา ให้ความช่วยเหลือตาม พ.ร.บ. ภัยพิบัติ
3.2 สนับสนุน ปลูกพืชทดแทน พืชหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรการระบาด