ศูนย์ข่าวนครราชสีมา – อุตสาหกรรมมันฯไทยสาหัส “เพลี้ยแป้ง”ระบาดหนัก โคราชแหล่งผลิตมันฯ อันดับ 1ของประเทศ เผยลามทั้งจังหวัดแล้วกว่า 1.1 ล้านไร่ ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติศัตรูพืช 23 อำเภอ คาดเสียหายสิ้นเชิงมากกว่า 1 แสนไร่ รวมกว่า 600 ล้านบาท เกษตรจังหวัดฯ งัด 3 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือเกษตรกรระดมตั้ง“หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว” ทุกอำเภอปูพรมกำจัดเพลี้ยร้ายให้หมดสิ้นในพ.ค. ขณะที่บุรีรัมย์อีกแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ระบาดรุนแรงใน 6 อำเภอ เสียหายสิ้นเชิงแล้วร่วม 2 หมื่นไร่ เช่นเดียวกับจ.ชัยภูมิ
นายสวัสดิ์ บึงไกร เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและเพาะปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกถึง 2.1 ล้านไร่ ผลผลิตหัวมันฯสดรวมกว่า 9 ล้านตันต่อปี สร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้กำลังประสบปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลังอย่างหนัก ซึ่งเป็นการระบาดในทุกพื้นที่ปลูกมันฯของจังหวัด ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงรุนแรง
อีกทั้งมีการระบาดในทุกระดับการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง จึงส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก และที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีสารเคมีหรือยากำจัดศัตรูพืชชนิดใดกำจัดได้ 100% เพราะเป็นเพลี้ยที่พัฒนาการตัวเองขึ้นมาใหม่ให้มีภูมิต้านทานต่อยากำจัดศัตรูพืชมากขึ้น ซึ่งกรมส่งเสริมวิชาการเกษตรได้ส่งตัวอย่างไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการยังประเทศสหรัฐอเมริกา แล้ว
ลามหนักทั้งจังหวัดกว่า 1 ล้านไร่
ประกาศภัยพิบัติเพลี้ย 23 อำเภอ
นายสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดจากการออกสำรวจไร่มันสำปะหลังของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั้ง 29 อำเภอ ที่มีการเพาะปลูกของ จ.นครราชสีมา พบการระบาดของเพลี้ยแป้งแล้วในพื้นที่ 23 อำเภอ แบ่งเป็น เกิดการระบาดมากกว่า 75% ขึ้นไป จำนวน 350,000 ไร่ เกิดการระบาดบางส่วน 787,500 ไร่ รวมประมาณ 1.1 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เบื้องต้นคาดว่าจะเสียหายสิ้นเชิงมากกว่า 1 แสนไร่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท และมีพื้นที่เฝ้าระวังยังไม่เกิดการระบาดอีก จำนวน 964,500 ไร่
ทั้งนี้พบการระบาดรุนแรงมาก ใน 17 อำเภอ คือระบาด 70-80% ของพื้นที่ปลูกแต่ละอำเภอ ประกอบด้วย อ.ครบุรี เสิงสาง สีคิ้ว วังน้ำเขียว ปักธงชัย ด่านขุนทด จักราช เมือง โชคชัย สูงเนิน หนองบุญมาก ขามทะเลสอ ปากช่อง เฉลิมพระเกียรติ พิมาย เทพารักษ์ และ อ.โนนไทย
“ จากสถานการณ์ดังกล่าว ล่าสุดจังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศทั้ง 23 อำเภอ ที่พบการระบาดของเพลี้ยแป้ง ให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแมลงศัตรูพืชระบาด (เพลี้ยแป้ง) แล้ว เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบฯฉุกเฉินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที ” นายสวัสดิ์ กล่าว
งัด 3 มาตรการเร่งด่วนสู้เพลี้ย
ตั้ง“Mobile Unit”ปูพรมกำจัด
นายสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ได้เร่งดำเนินแผนการรณรงค์ป้องกันและกำจัด การระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง รวมทั้งช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยยุทธศาสตร์ 3 มาตรการเร่งด่วน คือ 1. การป้องกันไม่ให้เพลี้ยแป้งกระจายไปสู่แหล่งปลูกอื่น ห้ามเคลื่อนย้ายกิ่งพันธุ์จากแหล่งที่มีการระบาดไปสู่แหล่งอื่นๆ ต้องเผาและทำลายกิ่งพันธุ์ในพื้นที่ที่มีการระบาด และรณรงค์ให้ความรู้ในการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดก่อนปลูก
2. การกำจัดเพลี้ยแป้งในพื้นที่แพร่ระบาด หากพบการระบาดในมันสำปะหลังช่วงอายุต่างๆ ต้องดำเนินการ ดังนี้ ในช่วงอายุตั้งแต่ 1-4 เดือน ต้องเผาทำลายต้นมันสำปะหลังทั้งหมด ช่วงอายุตั้งแต่ 5-8 เดือน ต้องกำจัดโดยชีววิธีร่วมกับการใช้สารเคมี ได้แก่ การฉีดพ่นด้วย เชื้อราบิวเวอเรียบาเซียน่า หรือการใช้สารเคมี การปล่อยแมลงช้างปีกใส และ การระบาดในช่วงอายุมากกว่า 8 เดือน ให้รีบเก็บเกี่ยว พร้อมเผาทำลายต้นมันในแปลง
3. การช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรในพื้นที่เสียหาย เร่งสำรวจความเสียหายอย่างรวดเร็วในทุกพื้นที่ และพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร ตามระเบียบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงการคลัง และจัดหาพืชปลูกทดแทนในพื้นที่เสียหาย หรือปลูกหมุนเวียน เช่น ข้าวโพด อ้อย เพื่อตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยแป้ง
นายสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินตามแผนดังกล่าว ในระดับจังหวัดได้จัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการ” ที่กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ขณะที่ในระดับอำเภอ ได้จัดตั้ง “หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (Mobile Unit)” ขึ้นทุกอำเภอ และ ระดับตำบล ได้จัดตั้ง “ชุดปฏิบัติการ” ที่มีเกษตรหมู่บ้าน อาสาสมัครเกษตร และผู้นำชุมชน ร่วมปฏิบัติงานทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติงานตามแผนฯ และจัดตั้งศูนย์ผลิตเชื้อราชุมชน อำเภอ ละ 1 จุด
“ขณะนี้สำนักงานเกษตรอำเภอ ทุกอำเภอได้ระดมกำลังจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว การป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง (Mobile Unit ) ไว้บริการให้คำแนะนำและลงพื้นที่ช่วยป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งถึงไร่เกษตรกรทุกพื้นที่แล้ว เพื่อเร่งปูพรมกำจัดเพลี้ยแป้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในท้องที่” นายสวัสดิ์ กล่าว
บุรีรัมย์สูญแล้วเกือบ 2 หมื่นไร่
ขณะที่ จ.บุรีรัมย์ แหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ประสบปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดหนักเช่นกัน โดยระบาดรุนแรงในแหล่งเพาะปลูก 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ปะคำ โนนสุวรรณ หนองกี่ ละหานทราย นางรอง และ อ.พลับพลาชัย เสียหายสิ้นเชิงแล้วกว่า 19,000 ไร่ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนกว่า 4,000 ราย จากพื้นที่เพาะปลูกมันทั้งจังหวัด 246,000 ไร่
นายสมบูรณ์ ซารัมย์ เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้เกษตรอำเภอ เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตรในพื้นที่ออกให้ความรู้แก่เกษตรกร พร้อมห้ามเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ออกจากพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยไปปลูกในพื้นที่อื่นอย่างเด็ดขาด เพราะเกรงว่าจะมีการระบาดขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น
รวมทั้งให้เกษตรกรในพื้นที่ที่มีการระบาดงดปลูกมันสำปะหลัง หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นทดแทน โดยทิ้งช่วงประมาณ 1-2 ปี เพื่อตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีตัวยาหรือสารเคมีชนิดใดกำจัดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ส่วนเกษตรกรที่ไม่อยู่ในพื้นที่ระบาด ก่อนปลูกมันสำปะหลังควรนำท่อนพันธุ์ไปแช่สารเคมีฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เพลี้ยแป้งหรือโรคชนิดอื่นเข้ามาระบาดในไร่ได้รับความเสียหาย
“จากรายงานข้อมูล ขณะนี้พบเพลี้ยแป้งได้ระบาดหนัก ใน จ.บุรีรัมย์ นครราชสีมา และ จ.ชัยภูมิ เสียหายแล้วหลายแสนไร่ ” นายสมบูรณ์ กล่าว
เกษตรกรโอดร้องรัฐเร่งช่วยเหลือ
ด้าน นายสมพร ละทะโล อายุ 54 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมันพันธุ์ดี อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เมษายนเป็นต้นมา เพลี้ยแป้งได้ระบาดกัดกินใบและยอดอ่อนมันสำปะหลัง ทั้งในต้นอ่อนที่ปลูกใหม่และต้นแก่ที่กำลังให้ผลผลิต ทำให้ใบหยิกงอ ลำต้นแคระแกร็น หัวมันไม่เจริญเติบโต เกษตรกรต้องถอนและไถทิ้งเพื่อปลูกใหม่บางรายประสบปัญหาขาดแคลนไม่มีต้นพันธุ์ปลูกทดแทน สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก
“ถึงแม้เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ จะเข้ามาสำรวจและแนะนำให้ฉีดพ่นยา แต่ก็ไม่สามารถกำจัดหรือยับยั้งเพลี้ยดังกล่าวที่กำลังระบาดอย่างต่อเนื่องได้ ส่วนตนปลูกมันฯทั้งหมด 40 ไร่ ถูกเพลี้ยแป้งกัดกินเสียหายไปแล้วกว่า 20 ไร่ จากที่ต้องลงทุนเพาะปลูกเฉลี่ยไร่ละ 6,400 บาท ได้ผลผลิตเฉลี่ย 4-5 ตันต่อไร่ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังเดือดร้อนด้วย” นายสมพร กล่าว