xs
xsm
sm
md
lg

ทหารกล้าลั่นกลางเวทีแจงเขมรรุก “เขาวิหาร” - หากจำเป็น! ต้องใช้กำลังเพื่อความมั่นคงชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมกิจการชายแดนทหาร กองทัพไทย เปิดเวที“สร้างสรรค์-เข้าใจ :ไทย-กัมพูชา”รุกแจงทำความเข้าใจปัญหาเขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา อีสานใต้ ที่ จ.สุรินทร์ วันนี้ (17 ก.ย.)
สุรินทร์ - กรมกิจการชายแดนทหาร กองทัพไทย เปิดเวที “สร้างสรรค์-เข้าใจ : ไทย-กัมพูชา” รุกแจงทำความเข้าใจปัญหาพิพาทเขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา อีสานใต้ที่ จ.สุรินทร์ เผย นายทหารกล้าเสนอกลางที่ประชุมจี้เร่งปักปันเขตแดน ชี้ ปล่อยยืดเยื้อไทยยิ่งเสียเปรียบ ระบุ เขมรเสริมกำลัง-อาวุธเพิ่มต่อเนื่อง ลั่นหากจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้าผลักดันก็ต้องทำเพื่อความมั่นคงของประเทศ

วันนี้ (17 ก.ย.) ที่ ห้องประชุมรัตนบุรี โรงแรมทองธารินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกับกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ได้จัดสัมมนา กรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านเขาพระวิหาร เรื่อง “สร้างสรรค์-เข้าใจ : ไทย-กัมพูชา” โดยมี นักวิชาการ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหาร, กระทรวงการต่างประเทศ และ ทหาร-ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ปฏิบัติงานในบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายบนเวที

โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.สุรินทร์ และ จ.ศรีสะเกษ, เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.), เจ้าหน้าที่การข่าวทหาร, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, เจ้าหน้าที่ข่าวกรอง, ทหารเรือ, เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ปฏิบัติงาน บริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.สุรินทร์-ศรีสะเกษ และสื่อมวลชนทั้ง 2 จังหวัดเข้าร่วมประชุมสัมมนา

ทั้งนี้ เนื้อหาการประชุมได้เน้นชี้แจงข้อมูลกรณีพิพาทพื้นที่ชายแดนด้านเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) รอบตัวปราสาทพระวิหาร

รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประคณะรัฐศาสตร์ และหัวหน้าโครงการความมั่นศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายบนเวทีพยายามเน้นให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. รอบปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธี ใช้หลักในการเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมกันและการนำพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาพัฒนาร่วมกันเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่หากเกิดการสู้รบจะทำให้เกิดการสูญเสีย กำลังทหารและพลเรือนทั้งสองฝ่าย

รศ.ดร.สุรชาติ กล่าวต่อว่า ปัญหากรณีเขาพระวิหารจะเป็นจุดเริ่มตั้งของข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา จากนั้นจะลุกลามขยายพื้นที่ไปยังพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านอื่นๆ เช่น ที่ ปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ไปจนถึงพื้นที่ชายแดนทางทะเล ด้าน จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ซึ่งชาวไทยทุกต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา ด้วยการใช้สติปัญหา โดยเฉพาะรัฐบาลต้องวางแผนในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นวันข้างหน้า และขอเตือนว่าชาตินิยมต้องไม่นำประเทศชาติไปสู่สงคราม

ด้านเจ้าหน้าที่จากกรมแผนที่ทหาร ได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าในการร่วมกันสำรวจและปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีทั้งหมด 73 หลักเขตแดน ตลอดความยาวของเขตแดนไทย-กัมพูชาจำนวน 798 กิโลเมตร โดยแบ่งการสำรวจปักปันเขตแดนเป็น 7 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การจัดทำ TOR ทำแผนแม่บทร่วมกัน เช่น ขั้นตอนที่ 1 คือ เริ่มการค้นหา หลักเขตแดนเดิมทั้ง 73 หลัก, ขั้นตอนที่ 2 จัดทำแผนที่ภาพถ่าย, ขั้นตอนที่ 3 กำหนดเดินสำรวจบนแผนที่ภาพถ่าย, ขั้นตอนที่ 4 หาแนวเขตแดนในภูมิประเทศ, ขั้นตอนที่ 5 สร้างเขตแดน เป็นต้น

ขณะนี้การสำรวจด้านหลักเขตแดนได้ดำเนินการร่วมกันกับฝ่ายกัมพูชาไปถึง หลักเขตที่ 49 แล้ว พร้อมได้รายงานไปยังหน่วยงานตามลำชั้นได้รับทราบและหากพบปัญหาเกิดขึ้นก็รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตลอดเวลา

สำหรับพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร บริเวณรอบปราสาทพระวิหาร เกิดจากที่กัมพูชา ยึดถือแผนที่ ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นใช้มาตรส่วน 1:200,000 ซึ่งเป็นแผนแนบไปกับการฟ้องศาลโลก ในปี พ.ศ.2505 และผนวกเอาพื้นที่บริเวณ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปด้วย แต่ไทยเราก็ประท้วงว่าการใช้แผนที่ดังกล่าวไม่ถูกต้อง ขณะที่ฝ่ายไทยเราใช้แผนที่ 1:50,000 และยืนยันว่าแผนที่ที่เราทำขึ้นถูกต้อง ใช้เทคนิคการจัดทำแผนที่ ที่มีความแม่นยำถูกต้อง โดยใช้เทคนิคการทำแผนที่จากสหรัฐอเมริกา ในขณะนั้น เราจึงยืนยันว่า แผนที่เราถูกต้อง

ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันอีกครั้งว่า การดำเนินการใดๆ ของประเทศกัมพูชา ทางรัฐบาลไทยได้มีการทักท้วงผ่านขั้นตอนของรัฐสภาไทยทำเป็นหนังสือส่งถึงรัฐบาลกัมพูชาทุกครั้งที่เกิดปัญหาบริเวณเขาพระวิหาร ไม่ว่าเป็นกรณีที่ชาวกัมพูชามาปักหลักสร้างบ้านเรือน บริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหาร กรณีพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่บริเวณภูมะเขือ ทางกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ และทักท้วงการดำเนินของฝ่ายกัมพูชา มาอย่างต่อเนื่องไม่มีการปล่อยปะเลยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการบรรยายของวิทยากรบนเวที ได้มีทหารพราน ปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ได้ขอคำแนะนำในการใช้แผนที่ทหารกับแนวสันปันน้ำในการรักษาเขตแดนประเทศไทย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง และเกิดการปะทะกันเกิดขึ้น ทางด้านวิทยากร ผู้บรรยายให้แนะนำได้เพียงว่า ให้ใช้หลักการเพื่อความสันติ

ขณะที่นายทหารยศ “พ.อ.” สังกัดหน่วยข่าวกรอง กองทัพบก รายหนึ่งเสนอต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยควรเร่งสำรวจปักปันเขตแดนเพราะหวั่นเกรงว่าปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชายิ่งปล่อยให้เนิ่นนานประเทศไทยยิ่งจะเสียเปรียบ เพราะกัมพูชามีการเสริมอาวุธและทหารมากขึ้น ยิ่งนานวันไปไทยจะเสียเปรียบอย่างมาก และหากจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้าผลักดันก็ต้องทำเพื่อความมั่นคงของประเทศ

รวมทั้งไทยควรเร่งสร้างพื้นที่กันชนชายแดนไทย-กัมพูชา ให้มีความมั่นคงมากขึ้น และหาหน่วยงานมารับผิดชอบในการดูแลพื้นที่แนวกันชนให้เป็นระบบมากขึ้น เพราะขณะนี้ส่อเค้าปัญหาจะลุกลามไปยังพื้นที่ชายแดนทั้งด้าน เกาะ และ ทางทะเล ด้วย นายทหารคนดังกล่าวระบุ

รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข


แผนที่ตามที่ไทยยึดถือ
พื้นที่ 4.6 ตร.กม.
พื้นที่ปักปันเขตแดนได้ 33 หลักเขต
กำลังโหลดความคิดเห็น