เชียงราย – ชาวบ้านฮือร้องผู้ว่าฯเชียงราย ถูกกรรมการโกงเงินออมทรัพย์หมู่บ้าน สูญทั้งเงินต้น/ดอกเบี้ย ตั้งแต่เรือนหมื่น-แสนบาทต่อราย เผยแจ้งความมานานกว่าปี เรื่องยังไปไม่ถึงไหน
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (8 ก.ย.) ชาวบ้านจากหมู่บ้านสันหลวง หมู่ 7 ต.หัวง้ม อ.พาน จำนวนประมาณ 100 คน ได้เดินทางไปชุมนุมกันที่บริเวณศาลากลาง จ.เชียงราย เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์ไปยังนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ให้ช่วยเหลือกรณีเงินออมทรัพย์ประจำหมู่บ้านสันหลวงอันตธานหายไปโดยแต่ละคนไม่ได้รับเงินปันผลมานานกว่า 1 ปีแล้ว และสงสัยว่า อดีตกรรมการเงินออมทรัพย์ประจำหมู่บ้านเป็นคนยักยอก
กลุ่มชาวบ้านซึ่งนำโดย นายเชวง จันทิ อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านสันหลวง และ นายแสด เตจ๊ะน้อย อายุ 46 ปี ได้จัดทำเป็นหนังสือยื่นไปยังทางจังหวัด ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงค์ธรรม จ.เชียงราย รับเรื่องทั้งหมดเอาไว้เพื่อตรวจสอบข้อมูลสำหรับช่วยเหลือชาวบ้านต่อไปทำให้ชาวบ้านพอใจและแยกย้ายกันไปรอการช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ชาวบ้านให้ข้อมูลกับศูนย์ดำรงค์ธรรม จ.เชียงราย ว่า หมู่บ้านสันหลวง ได้ตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อออมเงินกันเองภายในหมู่บ้าน โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมกันออมทรัพย์ทุกๆ วันที่ 7 ของเดือนในรูปแบบของสหกรณ์ คือ กำหนดหุ้นละ 30 บาท ส่วนใครจะออมกับกองทุนกี่หุ้นก็แล้วแต่กำลังทรัพย์ เมื่อถึงสิ้นปีก็จะมีการแบ่งปันหุ้นคืนด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10
ที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีปัญหาใดๆ เพราะชาวบ้านได้ตั้งตัวแทนเข้าไปเป็นประธานและกรรมการบริหารกองทุนรวมจำนวน 3 คน ทำให้แต่ละคนมีส่วนแบ่งในเงินกองทุนคนละตั้งแต่หลัก 10,000-100,000 บาท โดยมีเงินออมทรัพย์รวมมากถึง 1,113,131 บาท
แต่กรรมการชุดล่าสุด ประกอบด้วย นางชลนิการ ยศสมบูรณ์ชัย ประธานเงินออมทรัพย์หมู่บ้าน และมีกรรมการอีก 2 คน คือ นายสุรเดช ทรายคำ และ นายสมปอง ร่มโพธิ์ กลับไม่มีการคืนเงินออมให้กับชาวบ้านทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยเริ่มไม่จ่ายเงินมาตั้งแต่ต้นปี 2551 ซึ่งชาวบ้านได้พยายามเข้าไปสอบถามและเจรจาแต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยงด้วยข้ออ้างเรื่องบัญชี ท้ายที่สุดนายสุรเดช ก็ย้ายไปทำงานที่ จ.ลพบุรี ส่วน นายสมปอง ก็ไปทำงานที่กรุงเทพฯ คงเหลือนางชลนิการ อยู่ที่หมู่บ้านเพียงคนเดียว แต่ก็ไม่ยอมคืนเงินออมทรัพย์ให้กับชาวบ้านทั้งยังซื้อรถใหม่มาขับอีกด้วย
ทำให้ชาวบ้านเหลืออดและไปแจ้งความเอาไว้ที่ สภ.พาน แล้ว ตั้งแต่ 1 ปีเศษก่อน แต่เรื่องกลับถึงแค่ชั้นอัยการ ชาวบ้านจึงเข้าร้องทุกข์ต่อจังหวัดให้ช่วยเร่งรัดดังกล่าว
นายแสด กล่าวว่า ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก เพราะแต่ละคนหวังจะใช้เงินออมทรัพย์ประจำหมู่บ้านเป็นแหล่งเงินทุนภายในชุมชน ไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้ภายนอก กระทั่งเมื่อถึงเวลาไปรับเงินปันผลก็หวังจะนำไปส่งลูกหลานเรียนหนังสือหรือซื้อปุ๋ยใส่พืชผลทางการเกษตร แต่ปรากฏว่ากรรมการหมู่บ้านไม่จ่ายเงินที่ชาวบ้านนำไปฝาก ทำให้ได้รับความเดือดร้อนกันโดยถ้วนหน้า เพราะกลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้านเรามีสมาชิกรวมกันกว่า 186 คนซึ่งแต่ละคนล้วนมีอาชีพด้านการเกษตรด้วยกันทั้งนั้น
“ชาวบ้านไม่ต้องการอะไรมากขอเพียงเอาเงินของพวกเราคืนมา”