xs
xsm
sm
md
lg

ปลด “เพชรวรรต” พ้นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - วงในเผยมีคำสั่งให้ปลด “เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล” พ้นจากตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงาน เผยเรื่องยืดเยื้อเกือบปีเพราะเจ้าตัวทู่ซี้ไม่ยอมออกให้ตั้งกรรมการสอบ พร้อมกันนั้นก็ยังนำพลพรรคเสื้อแดงไปอาละวาดตามที่ต่างๆ ต่อเนื่องโดยไม่แยแสวินัยเจ้าพนักงานตุลาการ

แหล่งข่าวในศาลแรงงานกลาง เปิดเผยว่า นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานภาค 5 ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วอย่างสมบูรณ์แล้ว อันเป็นผลมาจากการพิจารณาของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ

ผลของการพิจารณาให้พ้นจากตำแหน่งของนายเพชรวรรตดังกล่าวถูกส่งไปยังสำนักงานศาลแรงงานภาค 5 (เชียงใหม่) แต่ยังอยู่ในขั้นตอนภายในของศาล เมื่อ “เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์” สอบถามไปยังศาลแรงงานภาค 5 ได้รับคำตอบเพียงว่าเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในชั้น “ลับ” หากต้องการทราบข้อมูลอาจจะทำหนังสือสอบถามมาอย่างเป็นทางการเสียก่อน แต่จากการตรวจสอบเว็บไซต์ของศาลแรงงานภาค 5 ไม่ปรากฏรายชื่อของนายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ในฐานะผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างอีกต่อไป

ทั้งนี้ นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ได้ใช้ฐานะนักธุรกิจผู้ประกอบกิจการโรงแรม สมัครเข้าเป็นผู้พิพากษาศาลสมทบ และได้ตำแหน่งเมื่อปี 2548 หลังจากมีกรณีเป็นแกนนำคนเสื้อแดงก่อเหตุในจังหวัดเชียงใหม่ต่อเนื่องได้มีผู้ร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติของนายเพชรวรรตไปยังอธิบดีศาลแรงงานภาค 5 จนมีการเสนอเรื่องพิจารณาเป็นลำดับจนให้พ้นจากตำแหน่งในที่สุด

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า แรกทีเดียวมีการไกล่เกลี่ยภายในขอให้นายเพชรวรรตลาออกจากตำแหน่งไปเองโดยดี เพราะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับฐานะข้าราชการฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้ เพราะมาตรา 23 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 กำหนดว่าผู้พิพากษาสมทบเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา และต้องรักษารักษาวินัยของข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ตามมาตรา 24

แต่ทว่านายเพชรวรรตปฏิเสธไม่ลาออก จึงมีการพักงานในช่วงต้นปี 2552 ไม่ให้ร่วมการพิจารณาคดีแต่ยังต้องรอผลการพิจารณาจากคณะกรรมการตุลาการเนื่องจากการให้ผู้พิพากษาสมทบพ้นจากตำแหน่งมีขั้นตอนรายละเอียดตามกฎหมาย ระหว่างนั้นนาชเพรวรรตยังเคลื่อนไหวต่อเนื่องในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง

สำหรับคุณสมบัติของผู้พิพากษาสมทบตามมาตรา 14 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ระบุว่า ผู้พิพากษาสมทบต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (1) มีสัญชาติไทย (2) บรรลุนิติภาวะ 3) มีภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำงานอยู่ในเขตศาลแรงงานนั้น (4) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถหรือ คนเสมือนไร้ความสามรถ (5) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 6) เป็นผู้มีความเลื่อมใสในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

(7) ไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ เว้นแต่ โทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือพ้นเวลาที่ศาลได้กำหนดในการรอการ ลงโทษแล้ว (8) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง กรรมการพรรคการเมือง หรือ เจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง สมาชิกรัฐสภาหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง หรือทนายความ หลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายชื่อผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างตามวรรคหนึ่ง

นอกจากนั้นยังต้องรักษาวินัยของข้าราชการตุลาการ เนื่องจากผู้พิพากษาสมทบเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา จึงต้องถือวินัยและระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น