xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ฉก.ร.4 ยันทหารไม่ได้กดดันกะเหรี่ยงอพยพกลับประเทศ - จวก NGO กุข่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก- ผบ.ฉก.ร.4 แม่สอด ออกโรงยืนยัน ทหารดูแลผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงตามขั้นตอน ไม่ได้กดดันให้กลับประเทศตามที่ถูกกล่าวหา ย้ำให้ผู้อพยพตัดสินใจเอง คนอื่นอย่าคิดแทนผู้อพยพ

วันนี้ (26 ส.ค.) พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด(ฉก.ร.4) ดูแลพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า (อ.แม่สอด-แม่ระมาด-พบพระ-อุ้มผาง-และ อ.ท่าสองยาง) กล่าวถึงข่าวที่มีองค์กรเอกชนหน่วยงานหนึ่งออกมาระบุว่า ทหารไทยที่ดูแลพื้นที่พักพิงผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ กำลังจะกดดันและผลักดันให้ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า ที่หนีภัยจากการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงอิสระ เคเอ็นยู เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ให้เดินทางกลับประเทศทั้งๆ ที่ไม่มีความปลอดภัยว่าไม่เป็นความจริงและไม่ทราบว่าองค์กรที่มาให้ข่าวนั้นมีเจตนาอย่างไรหรือต้องการอะไร

ผบ.ฉก.ร.4 ย้ำว่า ตนในฐานะผู้นำหน่วย ฉก.ร.4 ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการดูแลผู้อพยพตามขั้นตอนการดูแลผู้อพยพ 3 ขั้นตอน คือ 1.พื้นที่แรกรับหลังอพยพเข้ามา จัดให้อยู่ในที่ปลอดภัย 2.พื้นที่พักรอระหว่างเหตุการณ์ไม่สงบ ก่อนส่งกลับ และ 3.พื้นที่พิจารณาสถานภาพ หากเหตุการณ์สู้รบดูแลยืดเยื้อ

นอกจากนี้ ทหารยังให้การดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมทุกอย่าง และหากจะมีการเดินทางกลับนั้นต้องให้ผู้อพยพสมัครใจด้วยตัวเองที่จะกลับประเทศ องค์กรต่างๆ ไม่ควรไปคิดแทนพวกเขา


“ฉก.ร.4 มีมาตรการควบคุมดูแลผู้อพยพในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในเขต อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ทั้งการเข้า-ออก นอกพื้นที่อย่างเข้มงวดเพื่อป้องกัน ไม่ให้ผู้อพยพ ออกนอกพื้นที่ควบคุม เช่น แอบไปขายแรงงานหรือไปทำงานต่างๆ เพราะหากออกไปก็จะตัดชื่อออกจากสถานผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบทันที และหากมีการจับกุมก็จะถือว่าเป็นพวกลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดี อีกอย่างเพื่อป้องกันกลุ่มผลประโยชน์ที่จะแอบมาชักชวนให้ลักลอบเข้าไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชั้นใน จึงต้องควบคุมอย่างเข้มงวด” ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด กล่าว

พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข กล่าวต่อว่า ผู้อพยพที่เข้ามาในช่วงเดือนมิถุนายน 2552 ระหว่างการสู้รบด้านตรงข้าม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ประมาณ 4,076 คน อาศัยตามพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านท่าสองยาง 15 ครอบครัว 150 คน บ้านแม่สลิดน้อย 25 ครอบครัว 71 คน พื้นที่นางน่อท่าก้อ 319 ครอบครัว 1,965 คน บริเวณหลังถ้ำแม่อุสุ 290 ครอบครัว 1,775 คน และที่บ้านแม่โค๊ะ ต.แม่สอง จำนวน 115 คน ซึ่งปัจจุบบันมีผู้อพยพ 1 ใน 3 แสดงความจำนงและเจตนาของตัวเองที่จะเดินทางกลับประเทศพม่า ส่วนที่เหลือรอการตัดสินใจ

“ส่วนตัวผมเห็นว่าไม่มีใครที่อยากจะไปอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านตัวเอง ทุกคนล้วนอยากกลับบ้านและทำกินบนที่ดินของตัวเองและครอบครัว ผู้อพยพก็เช่นกัน พวกเขาต้องการกลับบ้านหากเชื่อมั่นว่าปลอดภัยแล้ว”

พ.อ.ผดุง บอกอีกว่า ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดตากมีผู้อพยพที่เข้ามาในฝั่งไทยช่วงสงครามการสู้รบระหว่างทหารพม่าที่ปราบปรามชนกลุ่ม ตั้งแต่ปี 2527 มากกว่า 70,000 คน ใน 3 ศูนย์อพยพ เช่นที่บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง อุ้มเปี้ยม อ.พบพระ และบ้านนุโพ อ.อุ้มผาง พวกนี้อยู่ในศูนย์มานานจนไม่มีแหล่งที่จะทำกิน ไม่อยากกลับประเทศ แต่ที่เพิ่งอพยพมาใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน 52 นั้นตอนนี้ยังถือว่ามีที่ทำกินอยู่ หากกลับไปก็ยังไปครองที่เดิมของตัวเองเพื่ออยู่และทำกิน แต่หากปล่อยเวลาให้ช้าและเนิ่นนานไปก็อาจจะถูกคนอื่นมายึดครองไป และตัวเองก็ไม่สามารถไปอยู่ที่พื้นที่เดิมได้อีก ซึ่งผู้อพยพส่วนใหญ่เข้าใจดี

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ได้มีองค์กรองค์กรหนึ่ง ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ UNHCR และเป็นองค์กรเอกชนได้ออกมาระบุว่า ทหารไทยที่ประจำการชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดตาก ได้พยายามผลักดันให้ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง ที่หนีภัยจากการสู้รบเมื่อกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาผลักดันเดินทางให้กลับประเทศพม่า ทั้งๆที่ยังไม่ปลอดภัยและมีการวางกับระเบิดจำนวนมากไว้ในฝั่งพม่า ซึ่งผู้อพยพจะไม่ปลอดภัย และเป็นการกระทำที่ไม่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด ออกมาแถลงถึงข้อเท็จจริง และขอให้องค์กรดังกล่าวได้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนที่จะมากล่าวหาทหารที่ดูแลผู้อพยพ
กำลังโหลดความคิดเห็น