ตาก-แม่ทัพภาค 3 ตรวจชายแดน สั่งทหารจับตาการเคลื่อนไหว กกล.ฝั่งพม่าใกล้ชิด พร้อมคุมเข้มผู้อพยพกว่า 1,000 คน สกัดโรคระบาด พร้อมสั่งเตรียมอพยพคนไทย ออกห่างชายแดนหากเหตุการณ์รุนแรงขึ้น
วันนี้(6 มิ.ย.)พล.ท.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เดินทางมาตรวจสถานการณ์การสู้รบตามแนวชายแดนไทย-พม่า ด้านตรงข้าม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก หลังเกิดเหตุทหารพม่าที่สนธิกำลังกับกองกำลังทหารกะเหรี่ยงพุทธ ดีเคบีเอ. ที่โจมตีทหารกะเหรี่ยงคริสต์ เคเอ็นยู.ทำให้มีผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงหนีภัยสงครามเข้ามายังฝั่งไทยจำนวนกว่า 1,300-1,500 คน
โดยแม่ทัพภาค 3 ได้ตรวจเยี่ยมกำลังพลและฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก มี พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด บรรยายสรุปถึงการสู้รบและการอพยพของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับเคเอ็นยู.มีขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2552 และยังไม่มีแนวโน้มจะยุติ รวมทั้งมีผู้อพยพเข้ามาเพิ่มขึ้น
พล.ท.ทนงศักดิ์ กล่าวมอบนโยบายกับ ผบ.ฉก.ร.4 และกองกำลังทหารที่รับผิดชอบและประจำการชายแดนไทย-พม่า อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ว่า ขอให้ ทหารได้สืบสวนหาข่าวความเคลื่อนไหวของกองกำลังฝ่ายพม่าอย่างต่อเนื่องและให้ประเมินสถานการณ์ว่าทำไม ทหารพม่าต้องโจมตีปราบปรามชนกลุ่มน้อย เคเอ็นยู.ในช่วงฤดูฝน ทั้งๆที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เพราะการสู้รบที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมีขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งได้ตั้งขอสังเกตว่ารัฐบาลพม่ามีแผนจะปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลทั้งหมดก่อนการเลือกตั้งในพม่าในปี 2553
และให้ฝ่ายปกครองและทหารได้ให้การช่วยเหลือผู้อพยพตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งตนเองมีความวิตกในเรื่องของผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง อาจจะนำเชื้อโรคระบาดมาแพร่ฝั่งไทย เช่นมาลาเรีย-รวมทั้งไข้หวัด 2009 จึงประสานหน่วยงานสาธารณสุขเข้ามาช่วยดูแล
“ผมขอให้ทหารที่ประจำการชายแดน เตรียมความพร้อมทุกรูปแบบในการรับสถานการณ์ เช่นได้จัดแผนการอพยพคนไทยที่อาศัยอยู่หมู่บ้านชายแดนหากเหตุการณ์รุนแรงขึ้น- ตั้งฐานอาวุธปืนหนัก หากมีการรุกล้ำอธิปไตย –เฝ้าระวังโรคระบาด-ปฏิบัติการตามหลักสิทธิมนุษยชนกับผู้อพยพ-ตรวจสอบข่าว-สืบข่าวจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของพม่าในการปราบปรามกะเหรี่ยง-และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจัดแผนเผชิญเหตุ” แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าว
ขณะที่ พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด กล่าวว่า จากการสำรวจผู้อพยพพบว่ามีผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามายังฝั่งไทย 3 จุด คือที่สำนักสงฆ์ธรรมจาริก ประมาณ 1,000 คน ที่บ้านแม่สลิดหลวงประมาณ 200 คน และ ที่บ้านแม่อุสุ ประมาณ 200 คน โดยทหารและฝ่ายปกครอง ได้เข้าไปดูแลและใช้หลักมนุษยธรรม สำหรับการสู้รบนั้น ไม่มีผลกระทบกับฝั่งไทย แต่ ฉก.ร.4 ได้ใช้หลักของยุทธวิธีของทหาร
รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้แม่ทัพภาคที่ 3 ได้สั่งเสริมกำลังทหารไปประจำการชายแดน ภายหลังมีกองกำลังในฝั่งพม่าทั้งฝ่ายพม่าและดีเคบีเอ..ได้มีการเสริมกำลังเพื่อกวาดล้างเคเอ็นยู.ขั้นเด็ดขาด และได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 จัดชุดควบคุมพื้นที่และกองร้อยจู่โจม หากเกิดความรุนแรงและมีผลกระทบกับฝ่ายไทย โดยร่วมปฏิบัติกับ ฉก.ร.4
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า ระหว่างที่แม่ทัพภาคที่ 3 กำลังตรวจพื้นที่ชายแดนอยู่นั้น ที่บริเวณชายแดนไทย-พม่า อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ได้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ด้วยอาวุธ ปืน ค.81 และปืนใหญ่ ระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงอิสระเคเอ็นยู. โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ใช้อาวุธปืนถล่มใส่กันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ทหารไทย ต้องตรึงกำลังชุดที่มีการปะทะและคุ้มกันแม่ทัพภาค 3 เพราะเสียงปืนที่ตกนั้นได้ยินชัดเจนมาถึงฝั่งไทย