ฉะเชิงเทรา-ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่เมืองแปดริ้วกระเป๋าตุงกันถ้วนหน้า หลังราคาไข่ไก่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด ตกถึงท้องคนกินใบละกว่า 3 บาท ขณะเกษตรกรรายย่อยต้องหายไปจากวงการเลี้ยงไก่ หลังทนแบกรับภาระจากการขาดทุนไม่ไหวเมื่อก่อนหน้านี้
นายสันติ วิโรจน์บริสุทธิ์ อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12 /4 ม.3 ต.คลองประเวศ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ ส.สิริฟาร์ม และที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสหกรณ์ไข่ไก่ต้นแบบแห่งแรกของประเทศ จากทั้งหมด 4 แห่ง กล่าวว่า ขณะนี้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม มีราคาสูงถึง 2.50 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงจนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีผลกำไรมากถึงใบละกว่า 30-50 สตางค์ หลังจากเมื่อก่อนหน้านี้ ต้องประสบปัญหาการขาดทุนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องหลายปี จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยจำนวนมากต้องเลิกเลี้ยงปิดตัวลงไป เพราะทนแบกรับภาระจากการขาดทุนต่อไปไม่ไหว จากสาเหตุของราคาต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ที่ขยับตัวแพงสูงขึ้นเมื่อก่อนหน้ามาโดยตลอด และปริมาณไข่ไก่ที่ผลิตได้ในประเทศล้นตลาด ที่มีผลผลิตมากถึงวันละกว่า 26-27 ล้านฟองต่อวัน
ขณะที่ปัจจุบัน มีปริมาณการผลิตไข่ไก่ในประเทศ อยู่ที่ 24-25 ล้านฟอง ลดลงมา 2 ล้านฟองต่อวัน เนื่องจากการปิดตัวเลิกเลี้ยงลงไปของเกษตรกรรายย่อยในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มขยับขึ้นมาก สูงสุดถึงใบละกว่า 3.10 บาท ในราคาไข่ไก่จำโบ้ หรือ เบอร์ 0 ส่วนราคาไข่ไก่ เบอร์ 1 อยู่ที่ 2.95 บาท เบอร์ 2 อยู่ที่ 2.80 บาท เบอร์ 3 อยู่ที่ 2.70 บาท เบอร์ 4 อยู่ที่ 2.60 บาท และเบอร์ 5 อยู่ที่ 2.50 บาท ซึ่งราคาไข่ไก่กลาง เบอร์ 2 และ3 ที่ผลิตได้เป็นจำนวนมากนั้น หากตกถึงมือผู้บริโภคแล้ว ราคาจะอยู่ที่ใบละกว่า 3 บาทเศษ นอกจากนี้ราคาไข่ไก่ยังมีแนวโน้มที่จะขยับขึ้นต่อไปอีก 10-15 สตางค์ต่อฟอง ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า
สำหรับฟาร์มเลี้ยงไก่ของตนในปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ กว่า 1 แสนฟองต่อวัน และขายไข่ที่ผลิตออกมาได้หมดทุกวัน ไม่มีเหลือตกค้างอยู่ในฟาร์ม ผิดกับช่วงที่ผ่านมา ที่ไข่ไก่ล้นตลาด จนมีเหลือตกค้างอยู่เป็นประจำ ขณะเดียวกันราคาต้นทุนการผลิตในด้านวัตถุดิบ ที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์นั้น ขณะนี้ยังไม่ขยับขึ้น เนื่องจากยังมีเหลือตกค้างอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก ตามสต็อกที่รัฐบาลไปทำไว้กับเกษตรกร ทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง และข้าว ที่เกษตรกรผลิตออกมาได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีบางส่วนไหลทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) อีกด้วย จึงทำให้ต้นทุนในด้านอาหารสัตว์ถูกลง