xs
xsm
sm
md
lg

ออเดอร์รถมือสองญี่ปุ่นเข้าพม่าทะลักยอดส่งผ่านด่านฯแม่สอดนับพันคันต่อเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - พม่าสั่งนำเข้ารถบัสมือสองจากญี่ปุ่นครั้งใหญ่ ทยอยนำเข้าผ่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี เฉลี่ยเดือนละนับพันคัน รับนโยบายเร่งพัฒนาระบบลอจิสติกส์ หนุนการคมนาคมขนส่งสินค้า-การท่องเที่ยว และการค้าชายแดน


รายงานข่าวจาก อ.แม่สอด จ.ตาก แจ้งว่า วันนี้ (28 ก.ค.) ที่บริเวณชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก กับจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า เชิงสะพานมิตรภาพฯ ภาคราชการและเอกชนพม่า ได้สั่งนำเข้ารถทัวร์โดยสารสภาพการใช้งานได้ดี 70-80% จากประเทศญี่ปุ่น ผ่านประเทศไทย ทางด่านศุลกากรแม่สอด เพื่อนำไปใช้ในพม่าล็อตใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากภาครัฐและเอกชนพม่า ได้ร่วมมือพัฒนาระบบการคมนาคม-การท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ในประเทศ โดยพม่าเปิดจดทะเบียนรถทุกชนิดมากขึ้น หวังพัฒนาระบบโลจิสติกส์ หนุนการขนส่ง-ท่องเที่ยวในประเทศ

นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด กล่าวว่า เชื่อว่าพม่ากำลังมีการพัฒนาระบบการคมนาคมลอจิสติกส์-การท่องเที่ยว จึงสั่งซื้อรถมือสองจากญี่ปุ่นจำนวนมากเพื่อใช้ในการขนส่งรูปแบบต่างๆ ซึ่งตัวเลขการสั่งซื้อรถของชาวพม่าในช่วงนี้มีจำนวนวันละหลายสิบคัน โดยผ่านทางนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้อนุญาต ให้ลำเลียงผ่านประเทศไทยและส่งออกทางด่านศุลกากรแม่สอด

นายพงศ์เทพเชื่อว่า การที่พม่าสั่งนำเข้ารถจำนวนมากขึ้นนั้น ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนแม่สอดและเขตนิคมอุตสาหกรรมที่มีการนำเข้า ทั้งเกิดการจ้างงาน-การสร้างงาน และต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจโดยภาพรวม

“ในช่วงนี้พม่ามีการสั่งซื้อรถมือสองสภาพดีจากญี่ปุ่นผ่านไทยเฉลี่ยเดือนละกว่า 1,000 คัน ทั้งรถโยสารขนาดเล็ก-รถทัวร์โดยสารขนาดใหญ่-ส่วนใช้ส่วนตัว ที่หลากหลาย โดยด่านศูลกากรแม่สอดได้อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่”


แหล่งข่าวพ่อค้าไทยที่ชายแดนแม่สอด กล่าวว่า ขณะนี้พ่อค้านักธุรกิจและผู้ประกอบการขนส่งชาวพม่า ได้สั่งซื้อรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่รวมทั้งรถทัวร์ บริการนักท่องเที่ยว ขนาด 8 ล้อ 10 ล้อ และ 12 ล้อ จากประเทศญี่ปุ่นผ่านประเทศไทย ส่งออกผ่านด่านศุลกากรแม่สอด-เมียวดี จำนวนมากผิดปกติ เฉพาะช่วงเดือนนี้ ยอดการสั่งซื้อมีมากกว่า 400-600 ล้านจั๊ต หรือประมาณ 60-70 ล้านบาท และอาจจะทะลุถึง 100 ล้านบาทในเร็วๆ นี้

โดยรถยนต์บรรทุกและรถทัวร์โดยสารดังกล่าว ผู้ประกอบการพม่าเป็นผู้สั่งซื้อตรงจากญี่ปุ่น ก่อนส่งผ่านมายังชายแดนไทย-พม่าด้าน อ.แม่สอด เพื่อส่งต่อไปยังกรุงย่างกุ้งและกรุงเนปิดอ เมืองหลวงใหม่ของพม่า รวมทั้งเมืองสำคัญต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในกิจการขนส่งสินค้าภายในประเทศ และยังเป็นการพัฒนาการให้บริการประชาชนที่ต้องการใช้รถโดยสารหรือรถทัวร์ เพื่อการเดินทางในประเทศและการท่องเที่ยว

“ตอนนี้รัฐบาลพม่าได้จัดระบบลอจิสติกส์ และพัฒนาศักยภาพทางการท่องเที่ยว จากเมืองชั้นในไปยังเมืองท่องเที่ยวชายทะเล และเมืองทางประวัติศาสตร์ เช่น พะโค-ตองอู-มัณฑะเลย์- กรุงย่างกุ้ง-เนปิดอ ฯลฯ โดยนำรถทัวร์ที่มีสภาพค่อนข้างดีมาปรับใช้ในการบริการสาธารณะ กอปรกับในช่วงเวลานี้กรมการขนส่งของพม่า ได้เปิดโอกาสให้พ่อค้า-ผู้ประกอบการ-ภาคเอกชน และราชการส่วนอื่นๆได้จดทะเบียนรถทุกชนิด เพื่อพัฒนาระบบลอจิสติกส์และการท่องเที่ยวจนถึงการพัฒนาประเทศด้านคมนาคมด้วย”

รายงานข่าวแจ้งว่า ประเทศไทยและพม่ามีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ร่วมมือระหว่างประเทศ ตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น กรอบความร่วมมือ ACMECS GMS และ MGC เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือทางโลจิสติกส์ระหว่างไทย-พม่า กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Cooperation: GMS) เส้นทาง R2 โครงข่ายถนนเชื่อมโยงแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ไทย-ลาว-เวียดนาม เส้นทางดังกล่าวเริ่มต้นจากเมืองเมาะละแหม่งของพม่า ผ่านประเทศไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านออกไปยังลาว ที่มุกดาหาร/สะหวันนะเขต เข้าสู่เวียดนามที่ลาวบาว ผ่านดองฮาไปสิ้นสุดที่เมืองดานัง

ขณะที่ไทยก็มีแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่พม่าในการปรับปรุงถนนช่วงแม่สอด/เมียวดี-พะอัน-ท่าตอน ระยะทางประมาณ 189 กิโลเมตร ให้สามารถเชื่อมโยงท่าเรือเมาะละแหม่ง (พม่า)-ท่าเรือดานัง (เวียดนาม) โดยมี อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและเป็นประตูเส้นทางการค้า Gate Way ศูนย์การค้าระหว่างประเทศ ไทย-พม่า-ลาว-กัมพูชา-จีน-อินเดีย

กำลังโหลดความคิดเห็น