xs
xsm
sm
md
lg

รัฐจัดงบไทยเข้มแข็งลงเชียงราย 1.1 หมื่นล้าน - หนุนค้าตรงหยุนหนันผ่าน “คุน-มั่ง กงลู่/น้ำโขง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – “เสี่ยจ้อน” ยาหอมทุนชายแดนภาคเหนือ ย้ำรัฐบาลหนุนค้าตรงกับหยุนหนุนผ่าน “คุน-มั่ง กงลู่ และแม่น้ำโขง” เต็มที่ เผยเฉพาะเชียงราย ได้งบไทยเข้มแข็งถึง 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมเตือนเตรียมรับมือข้อตกลง “BIMSTEC-FTA” ที่วันนี้ยังมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1.17 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เชื่อมั่นจะขยายเพิ่มอีกหลายเท่าตัวในอนาคต จวก “FTA-ทักษิณ” ทำเกษตรเละ

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (16 ก.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.กระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเวทีสาธารณะ เรื่อง “BIMSTEC:GMS” ชุมทางเศรษฐกิจอินเดีย–จีน โอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุนของภาคเหนือ ณ โรงแรมดุสิตรีสอร์ท เชียงราย ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 300 คน

นายอลงกรณ์กล่าวว่า กลุ่ม BIMSTEC ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศไทยและกลุ่ม GMS หรือกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง มีประชากรกว่า 1,500 ล้านคน ประกอบไปด้วยไทย พม่า บังกลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา ปัจจุบันมีสภาพเศรษฐกิจที่มั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ในกลุ่ม BIMSTEC จึงมีข้อตกลง BIMSTEC-FTA ในสินค้ากว่า 5,000 รายการภายในเดือน ก.ค.2553 เป็นต้นไป โดยมีทั้ง FTA แบบลดอัตราภาษี 0% และค่อยๆ ลดลงไปตามลำดับ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่ได้ร่วมมือกับกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ถึง 2 กลุ่ม คือ BIMSTEC และ GMS หรืออาเซียน โดยอาเซียนมีประชากรกว่า 570 คน เมื่อ 2 กลุ่มนี้รวมกันแล้วมีประชากรกว่า 2,500 ล้านคนจึงเป็นตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่

นายอลงกรณ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรในภาคเหนือของไทยประสบปัญหาหนักหลังมีการใช้ข้อตกลง FTA ผักและผลไม้ไทย-จีน ซึ่งมาจากข้อตกลงระดับทวิภาคี แต่ข้อตกลงดังกล่าวอยู่ภายใต้ข้อตกลงของพหุพาคีขององค์การการค้าโลกหรือ WTO ที่จะมีการประชุมรอบโดฮาในปี 2553 ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายผลกระทบดังกล่าว หลังมีปัญหาจากข้อตกลงระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา เช่น บราซิล ฯลฯ แต่หากว่า WTO ไม่สามารถทำให้ผ่อนคลายได้ก็จะกลายเป็นองค์กรที่ไม่มีบทบาทมากตามที่คาดหวังไว้ และก็จะทำให้ในอนาคตก็จะมีการหันไปประชุมแบบทวิภาคีกันมากขึ้น

“จากการเดินทางไปเยือนประเทศจีนของนายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุด ทำให้เรามุ่งหวังจะทำให้การค้าไทย-จีน ถึงระดับ 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปีในอนาคต ด้วยการผลักดันการค้าตรงระหว่างจังหวัดต่างๆ กับมณฑลต่างๆ ของจีน สำหรับเชียงรายก็ไม่ต้องคิดมากต้องค้ากับมณฑลหยุนหนัน ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะให้สนับสนุนด้านเส้นทางคมนาคม ลอจิสติกส์ การค้าต่อไป”

แต่เฉพาะหน้านี้ รัฐบาลพยายามแก้ไขผลกระทบจาก FTA ไทย-จีน โดยพยายามชดเชยด้วยการเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ กับจีนโดยส่งเสริมการค้าตรงระหว่างจังหวัดต่างๆ กับหลายๆ มณฑล และมีการเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ ในมณฑลทางใต้ของจีนอีกหลายจุดโดยหลายแห่งเป็นจุดที่ไม่มีการเปิดมาก่อนหน้านี้เพื่อระบายสินค้าไทย

นายอลงกรณ์กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่ม BIMSTEC กับไทย มีการค้ามูลค่า 11,752.02 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือ 3.31% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ซึ่งหลังข้อตกลง FTA ในกลุ่มนี้แล้วคาดว่าจะทำให้มูลค่าการค้าขยายตัวเป็น 30% โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสมาก คือ ยางพารา น้ำตาล ผลไม้ ฯลฯ ส่วนการนำเข้าคงจะนำมาแปรรูป เช่น ปลาทู ทูน่า สิ่งทอ ฯลฯ กระนั้นการค้ากับกลุ่ม BIMSTEC ก็มีปัญหาบ้างเรื่องเส้นทางคมนาคมในประเทศพม่า

อย่างไรก็ตาม อินเดียก็มีนโยบาย Look East และไทยก็มีโยบาย Look West ทำให้ในอนาคตก็จะมีการพัฒนาตามมาเมื่อผนวกกับปัญหาความไม่สงบในประเทศศรีลังกาลดลง ทำให้โอกาสตามที่คาดหมายไว้มีอยู่สูงมาก

“ข้อตกลง BIMSTEC เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายชัดเจนในการทำการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงอาเซียน +3+6 กลุ่ม GMS-จีน ฯลฯ แทนการค้าโดยไม่มีเป้าหมาย ส่วนการค้าไกลๆ กับประเทศสหรัฐฯ ยุโรป ก็ดำเนินต่อไปแต่ในอนาคตจะไม่ใช่เป้าเดียวอีกต่อไปเพราะเมื่อประเมินต้นทุนแล้วในกลุ่มประเทศข้อตกลงข้างต้นมีต้นทุนในการขนส่งสินค้าต่ำกว่ามาก”

สำหรับเชียงราย เป็นเมืองหน้าด่านของไทยในการไปสู่มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ ผ่าน สปป.ลาว ด้วยถนน R3A และ R3B ผ่านประเทศพม่า ระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร รวมทั้งทางเรือในแม่น้ำโขง ซึ่งถือเป็นประตูของกลุ่มอาเซียน และ GMS รวมทั้ง BIMSTEC ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งขณะนี้มูลค่าการค้าชายแดนทั้งประเทศมีประมาณ 9 แสนล้านบาทต่อปี ถือว่ามหาศาลและเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์จึงมีนโยบายหลักในการส่งเสริมอย่างเต็มที่

โดยในส่วนของเชียงรายจะมีโครงการไทยเข้มแข็งลงสู่พื้นที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท แต่จัดสรรให้ปีละประมาณ 3,800 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากมาย เช่น โครงการสร้างถนนจากอำเภอต่างๆ ไปสู่ อ.เชียงของ เพื่อเชื่อมกับสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ไทย-สปป.ลาว-R3A มูลค่ากว่า 900 ล้านบาทปัจจุบันอนุมัติงบประมาณแล้ว ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำโขง ก็อนุมัติงบประมาณแล้ว เช่นเดียวกับท่าเรือในแม่น้ำโขงแห่งใหม่ที่หมู่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน

นายอลงกรณ์ย้ำว่า นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะผลักดันเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ให้ได้เพื่อเชื่อมกับรถไฟจากประเทศจีนเพราะรถไฟต้นทุนต่ำ แต่ก็ขอให้จีนได้พัฒนาเส้นทางผ่านเข้ามาทาง สปป.ลาว เพื่อให้รู้ว่าจะมาจ่อที่ตรงจุดไหนเราก็จะได้ทำไปบรรจบกันได้ โดยเฉพาะขนานมากับถนน R3A ผ่าน สปป.ลาว-เชียงของ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องการการสนับสนุนจากจีนมาก

“อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้มุ่งหวังเชื่อมทางบกเท่านั้น ยังมีทางเรือในแม่น้ำโขงเหมือนเดิม เพราะต้นทุนต่ำ ดังนั้นคำว่าคุน-มั่ง กงลู่ จึงต้องเพิ่มเป็นคุน-มั่ง กงลู่ แม่น้ำโขง ด้วย”นายอลงกรณ์ กล่าวและว่า

ด้าน นายอาคม เติมพัทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า กลุ่ม GMS มีการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2535 เป็นต้นมาเป็นระยะเวลา 17 ปีแล้ว เดิมมีข้อตกลงพัฒนาแค่แนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor)และตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ปัจจุบันมีมากถึง 9 Corridor อนาคตทุก Corridor จะพัฒนามากขึ้นจากเดิมที่แนว North-South ผ่านถนน R3A แล้วเสร็จแล้วรอเพียงสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ และ East-West ก็คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม

นอกจากนี้ใน GMS ก็มีโครงการร่วมกันมากถึง 19 โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการคือสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมถนน R3A การปรังปรุงถนนในประเทศพม่า และการพัฒนาถนนในประเทศกัมพูชา ในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมดังกล่าวทำให้ประเทศไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม กำลังเจรจากันเพื่อให้มีการใช้สิทธิในการขนส่งทางรถบรรทุกผ่านประเทศต่างๆ 100 คัน

นายอาคมบอกว่า ใน GMS มีข้อตกลงระหว่างประเทศร่วมกันกว่า 20 ฉบับ ปัจจุบันประเทศไทยได้จัดการเพื่อให้สอดคล้องกันแล้ว 11 ฉบับ คงเหลืออีก 9 ฉบับซึ่งต้องใช้การแก้ไขกฎหมายในประเทศไทยอีก 5 ฉบับ ซึ่งได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว และอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งหากแก้ไขกฎหมายต่างๆ แล้วเสร็จก็จะอำนวยความสะดวกต่อหลายเรื่อง เช่น การตรวจรถขนส่งสินค้าเพียงครั้งเดียวกรณีผ่านด่านระหว่างประเทศไทย ซึ่งจะทำใช้ประกอบโควตารถบรรทุก 100 คันผ่านไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม และไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ นั่นเอง

นายอาคมกล่าวสรุปว่า ในปี 2555 ข้อตกลงของกลุ่ม GMS จะหมดลงดังนั้นกลุ่ม GMS จึงจะต้องจัดทำแผนระยะ10 ปีต่อไปอีกซึ่งตนเห็นว่านอกจากกลุ่ม GMS จะแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมแล้ว ยังต้องพูดถึงเรื่องการพัฒนาการตลาด การเงินการธนาคาร ธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือ SME ฯลฯ โดยในส่วนของประเทศไทยก็มุ่งให้ความสำคัญกับระดับท้องถิ่นและจังหวัดที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น