xs
xsm
sm
md
lg

คสศ.-หอเหนือเปิดวงถก “พม่า-ลาว-จีน” รับ “คุน-มั่ง กงลู่”-ลอจิสติกส์ 4 ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – กลุ่มนักธุรกิจ 10 จังหวัดภาคเหนือ-คศส. ตระเวนเปิดเวทีประชุมร่วม “พม่า-ลาว-จีน” หวังกระชับความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น เพิ่มโอกาสในการพัฒนาการค้า การลงทุน รองรับโครงการคมนาคมเชื่อม 4 ชาติ หรือ 4 เหลี่ยมเศรษฐกิจ เตรียมตัวรับถนน-สะพาน “คุน-มั่ง กงลู่” เผยวงหารือนัดแรกกับ ส.ป.ป.ลาว มีภาคธุรกิจจากหลายแขวงตอนเหนือเข้าร่วมถกเพียบ พร้อมเตรียมหารือร่วม “จีน-พม่า” ต่อต้นเดือนหน้า ขณะที่ผู้ว่าฯเตรียมควงแขนสารพัดหน่วยแจงแผนพัฒนาระบบคมนาคมทั้งทางบก-ทางน้ำ-ระบบรางของเชียงรายพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.)

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (29 มิ.ย.) คณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้จัดการประชุมร่วมนักธุรกิจไทย-สปป.ลาว ณ ห้องประชุมโรงแรมน้ำโขงริเวอร์ไซด์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อเป็นเวทีพบปะกันระหว่างภาคเอกชนของ 10 จังหวัดภาคเหนือ และนักธุรกิจในแขวงบ่อแก้ว ตรงข้าม อ.เชียงของ แขวงหลวงน้ำทาติดชายแดนประเทศจีน แขวงอุดมไชย ฯลฯ โดยมีนักธุรกิจจาก สปป.ลาว ซึ่งมาจากสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของแขวงต่างๆ เข้าร่วมประมาณ 15 คน

สำหรับเนื้อหาของการหารือส่วนใหญ่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ในปัจจุบันและพัฒนาความร่วมมือในอนาคต เพื่อรองรับการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งเชื่อมถนน R3a กับถนนในประเทศไทย อันจะทำให้เมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้และกรุงเทพฯ สามารถติดต่อกันได้โดยตรง ผ่านเส้นทาง “คุน-มั่ง กงลู่”

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธาน คสศ.หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ เปิดเผยว่า นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย โดยสำนักงานจังหวัดได้ให้การสนับสนุนทาง คสศ.ในการสร้างความสัมพันธ์กับนักธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเต็มที่ และทาง คสศ.หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือก็มีกำหนดจัดการประชุมต่อจากครั้งนี้อีก 2 ครั้งโดยจะประชุมแบบทวิภาคีเหมือนกันคือในวันที่ 2 กรกฎาคม ประชุมร่วมไทย-จีนตอนใต้ ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน อ.เชียงแสน และประชุมระหว่างไทย-พม่า ในวันที่ 6 กรกฎาคมที่โรงแรมวังทอง อ.แม่สาย

สำหรับการประชุมกับ ส.ป.ป.ลาว ในครั้งนี้มีนักธุรกิจจาก สปป.ลาว เข้าร่วมในหลากหลายแขนง เช่น นำเข้าส่งออก-ค้ารถยนต์-พืชไร่-ค้าอุปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจในประเทศไทยทั้งสิ้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่เราทั้งสองฝ่ายจะต้องทำความเข้าใจในระเบียบของทั้งสองประเทศ และหารือถึงปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่และอาจจะมีในอนาคต เพื่อแสวงหาความร่วมมือร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อถนน R3a “คุน-มั่ง กงลู่” เปิดใช้อย่างเป็นทางการ และสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ก็จะแล้วเสร็จภายในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า

นายพัฒนา บอกว่า ที่จริง คสศ.หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมในแขวงทางเหนือของ สปป.ลาว มีความร่วมมือกันมาได้นานกว่า 2 ปีแล้ว โดยที่ผ่านมีการลงนามในความร่วมมือระหว่างกันหลายกิจกรรม เช่น การจัดให้บีโอไอของ ส.ป.ป.ลาว เข้ามาให้ความรู้กับนักธุรกิจกรณีจะไปทำธุรกิจในลาว การผลักดันให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสนเข้ามาส่งเสริมแรงงานของทั้งสองประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ

การประชุมครั้งนี้ก็จะเป็นการสรุปผลการดำเนินการตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายดังกล่าว จากนั้นก็จะหารือเพื่อความร่วมมือในอนาคตหลังสะพานข้ามแม่น้ำโขงและข้อตกลงในกรอบ GMS เรื่องการขนส่งตามเส้นทางเหนือ-ใต้ หรือ North-South Economic Corridor ต่อไป

นายพัฒนา บอกอีกว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีเวลาเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในเรื่องการขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดระหว่างกันหรือลอจิสติกส์ รวมทั้งการหาสินค้าเพื่อรองรับระบบการขนส่ง หรือซัปพลายเชน รวมไปถึงด้านการนำเข้า-ส่งออก และการท่องเที่ยว เพราะหากไม่ดำเนินการใดๆ เลยก็อาจจะประสบปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้าและการปฏิบัติต่อระเบียบของแต่ละฝ่ายแตกต่างกัน

ขณะเดียวกัน ในการประชุมมีการเชิญหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย เช่น เทศบาล ต.เวียงเชียงแสน องค์การบริหารส่วนตำบล ด่านศุลกากร ฯลฯ เพราะการพัฒนาทางการค้าชายแดนย่อมเกี่ยวข้องกับพื้นที่ เช่น ผังเมือง ระเบียบการค้า การจัดระเบียบชุมชนหลังการสร้างสะพาน เป็นต้น

นายพัฒนา กล่าวอีกว่า หลังการประชุมครั้งนี้จะมีการหารือกับนักธุรกิจจีนในวันที่ 2 กรกฎาคม นี้ ในทำนองเดียวกัน โดยนักธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นผู้ค้าผักและผลไม้ ธุรกิจนำเข้าและส่งออก ฯลฯ เพื่อสรุปผลความร่วมมือและสอบถามปัญหาอุปสรรคระหว่างกันเพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขต่อไป

ด้านการประชุมกับประเทศพม่าในวันที่ 6 กรกฎาคม ก็จะมีการหารือแต่จะมีเนื้อหาของรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปเพราะการค้ากับประเทศพม่าจะผ่านทางด่าน อ.แม่สาย เป็นสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมามูลค่าการค้าก็มีจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว ดังนั้น จึงจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิไปให้ความรู้ความเข้าใจในการค้าและการค้าลงทุนด้วย

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าด้าน นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้กลับจากการเดินทางไปเยือนเขตปกครองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน และมีกำหนดจะจัดแถลงข่าวการเดินทางไปเยือนดังกล่าวในวันที่ 30 มิถุนายน นี้ ขณะที่ นายวิรัตน์ แสนอุดม ผู้อำนวยการแขวงการทางเชียงรายจะร่วมแถลงความคืบหน้าการเตรียมการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ด้วย และผู้แทนจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวีจะร่วมแถลงเรื่องโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก แม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ที่ อ.เชียงแสน หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ จ.เชียงราย แถลงเรื่องโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย นายนาวิน เทพวงษ์ พาณิชย์ จ.เชียงราย แถลงเรื่องสถานการณ์ค้าชายแดนด้าน จ.เชียงราย

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กำหนดให้สะพานแห่งนี้เชื่อมระหว่างบ้านดอนมหาวัน ต.เวียง อ.เชียงของ กับบ้านดอน เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว มีความกว้าง 14.70 เมตร ยาว 630 เมตร ความยาวตลอดโครงการ 11.6 กิโลเมตร โดยใช้ต้นทุนก่อสร้างทั้งหมด 54.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1,934 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยจำนวน 1,034.7 ล้านบาท และฝ่ายจีน 967 ล้านบาท กำหนดเริ่มศึกษาพื้นที่ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2552 และเวนคืนที่ดินให้แล้วเสร็จในเดือน มกราคม 2553 ก่อนก่อสร้างในเดือน กุมภาพันธ์ 2553 เพื่อให้แล้วเสร็จในเดือน กันยายน 2555

ส่วนท่าเรือในแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน แห่งที่ 2 สร้างขึ้นที่ปากแม่น้ำกกไหลลงสู่แม่น้ำโขงเขตหมู่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน เนื้อที่ 402 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา โดยปัจจุบันได้ผ่านขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประชาพิจารณ์หมดแล้วและคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ก่อสร้างด้วยวงเงิน 1,546,400,000 ล้านบาท ทำให้กรมได้ว่าจ้างบริษัท พอร์ท แอนด์ มารีน คอร์ปอเรชั่น (พี.เอ.เอ็ม) จำกัด ตามสัญญาเลขที่ 52/2552/พย.ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ให้การทำก่อสร้างตามสัญญา 960 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2552-28 ธันวาคม 2554


กำลังโหลดความคิดเห็น