เชียงราย – แฉเครือข่ายพรรคเพื่อไทย เดินเกมปลุกม็อบลำไยเหนือ ยึดทั้งที่ว่าการอำเภอ-ศาลากลางจังหวัด หากรัฐบาล “มาร์ค” แก้ปัญหาราคาลำไยตกต่ำตามข้อเรียกร้องไม่ได้
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (22 ก.ค.) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย ประมาณ 200 คนได้ไปรวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อเรียกร้องผ่านนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ไปยังกระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาลให้ช่วยเหลือเรื่องการพยุงราคาผลผลิตลำไย โดยเกษตรกรกลุ่มนี้มีนายนิพนธ์ สารถ้อย ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนห้วยสักเป็นแกนนำ
โดยกลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไย กลุ่มนี้ได้ยื่นข้อเสนอถึงทางจังหวัดผ่านไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 ข้อคือ
1.ให้รัฐบาลประกันราคาลำไยอบแห้งแก่ผู้ประกอบการทำลำไยอบแห้งราคากิโลกรัมละ 50-45 บาท เพื่อให้ผู้ประกอบการไปรับซื้อลำไยสดร่วงจากเกษตรกรเกรดเอเอกิโลกรัมละ 13 บาท เกรดเอ กิโลกรัมละ 9 บาท และเกรดบี กิโลกรัมละ 5 บาท
2.ขอให้ดำเนินการโดยเร่งด่วนเพราะผลผลิตเริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว หากล่าช้าจะไม่ทันการณ์ และทำให้ลำไยเน่าเสียหาย
3.ให้รัฐบาลเตรียมการรองรับผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ในระยะยาวไม่ใช่ปล่อยให้เกิดขึ้นแล้วแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นฤดูกาลไป
นายนิพนธ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยยื่นหนังสือไปที่กระทรวงพาณิชย์แล้ว แต่เรื่องก็เงียบหาย ขณะที่ผลผลิตในปัจจุบันราคาตกต่ำมาก โดยลำไยสดร่วงเกรดเอเอ กิโลกรัมละเพียง 7 บาท เกรดเอ กิโลกรัมละ 9 บาท และเกรดบี กิโลกรัมละ 5 บาท ขณะที่ราคาลำไยอบแห้งที่เอกชนรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 43 บาทไม่เกิน 45 บาทเท่านั้น อีกทั้งราคาไม่นิ่งขึ้นลงตลอด
ขณะที่เกษตรกรได้คำนวณต้นทุนการปลูกลำไยแล้ว พบว่าอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท ดังนั้นในครั้งนี้จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ดำเนินการตามที่เรียกร้องโดยเกษตรกรยอมขาดทุนขายในราคากิโลกรัมละ 13 บาท 9 บาท และ 5 บาท ตามที่เรียกร้องเท่านั้น
นายนิพนธ์กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการของรัฐบาลที่ได้นำออกมาใช้เพื่อให้มีการรับซื้อผลผลิตเกรดเอเอ กิโลกรัมละ 12 บาท เกรดเอ กิโลกรัมละ 8 บาท และเกรดซี กิโลกรัมละ 4 บาท เช่น ชดเชยค่าขนส่งนอกจังหวัดกิโลกรัมละ 2 บาท ต่างประเทศกิโลกรัมละ 2.50 บาท นั้น ถือว่าไม่เพียงพอเพราะเป็นการดำเนินการเฉพาะลำไยช่อเท่านั้น ขณะที่ลำไยส่วนใหญ่ 90%เ ป็นลำไยสดร่วง ดังนั้นมาตรการของรัฐบาลจึงช่วยเฉพาะลำไย 10% เท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้จะเข้าร่วมโครงการของรัฐต้องมีเงื่อนไขต่างๆ มากมายโดยต้องจดทะเบียน แสดงเอกสาร ฯลฯ ซึ่งในปีนี้เกษตรกรทั่วไปยังไม่พร้อม
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ต่อมานายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เจรจากับชาวบ้าน โดยระบุว่าก่อนหน้านี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้นำปัญหาทั้งหมดเสนอไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยระบุว่าจะต้องพยุงราคาให้ได้ตามเกณฑ์เดิมคือเกรดเอเอกิโลกรัมละ 12 บาท เกรดเอ 8 บาท และเกรดบี 4 บาท และจัดหาตลาดให้เกษตรกรให้ได้ เพราะราคาได้ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องจึงเห็นว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมาก่อนหน้านี้นั้นคงจะไม่เพียงพอทำให้ปัจจุบันก็กำลังรอรับคำสั่งเรื่องมาตรการจากรัฐบาลอยู่
นายพินิจกล่าวอีกว่า ผลผลิตลำไยในเชียงรายมีมากกว่า 1 แสนไร่ มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และปีนี้ทุกจังหวัดก็มีลำไยออกมามาก ขณะที่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยทั้งตลาดจีน ตลาดยุโรป รวมทั้งตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศพบว่า การส่งออกมีปัญหา เนื่องจากต้องมีการเคลือบสารที่มีกำมะถันเพื่อรักษาผิวลำไยก่อนนำไปแช่แข็ง เมื่อส่งไปถึงปลายทางบางครั้งก็ได้รับการปฏิเสธจากประเทศคู่ค้าเพราะเกรงว่าจะได้รับอันตราย ส่งผลให้ตลาดตีบตันและมีผลกระทบต่อราคารับซื้อจากเกษตรกรดังกล่าว
“โครงการของรัฐบาล 5 มาตรการดังกล่าวพบว่ามีเกษตรกรเข้าร่วมน้อย เงิน คชก.จำนวน 150 ล้านบาท ที่รัฐให้กู้ก็มีผู้กู้เพียงประมาณ 5% หรือไม่ถึง 10 ล้านบาท รองรับผลผลิตไม่กี่พันตันเท่านั้นขณะที่ทั่วประเทศมีผลผลิตนับแสนตัน อย่างไรก็ตามเมื่อเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนยื่นเรื่องครั้งนี้ทางจังหวัดก็จะยื่นเรื่องไปยังรัฐบาลตามขั้นตอน”
จากนั้นนายพินิจได้รับหนังสือจากเกษตรกรทำให้ชาวบ้านพอใจและแยกย้ายกันกลับ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้อออกมาเรียกร้องเรื่องราคาผลผลิตลำไยตกต่ำ แต่หลังจากยื่นหนังสือไปถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไปแล้ว ทำให้หลายกลุ่มขีดเส้นให้เวลารัฐบาลประมาณ 3 วันหรือวันที่ 25 ก.ค.52 หากไม่ได้ผลก็จะออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง โดยในแต่ละพื้นที่จะมีมาตรการกดดันแตกต่างกันไป
นอกจากนี้มีรายงานว่า ในปัจจุบันได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย ในภาคเหนือออกมารวมตัวกันเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในการเรียกร้องกดดันรัฐบาลอย่างแข็งขัน โดยนักการเมืองกลุ่มใหญ่นี้ ได้กำหนดมาตรการให้กับชาวบ้านโดยบางจุดเน้นการใช้ความรุนแรง
เช่น ให้ยึดที่ว่าการอำเภอทุกแห่งในบางจังหวัด ยึดศาลากลางจังหวัด เป็นต้น เพื่อกดดัน ซึ่งแตกต่างจากการเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรในอดีต ที่นักการเมืองหรือ ส.ส.ไม่ค่อยเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากนัก หรือเพียงแต่สนับสนุนอยู่ข้างหลังเพื่อรอรับผลงาน แต่ในครั้งนี้กลับดำเนินการอย่างเป็นขบวนการถึงขั้นสามารถนัดหมายกลุ่มเกษตรกรทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนให้ออกมากดดันในวันเดียวกัน คือ วันที่ 25 ก.ค.นี้ คล้ายจะโจมตีรัฐบาลโดยใช้ความทุกข์ยากของเกษตรกรเป็นเครื่องมือ