ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ทุกจังหวัดเร่งเครื่องแก้ปัญหาลำไย 52 ที่คาดหมายกันว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากถึง 5 แสนตัน แถมมีบทเรียนสยอง “จำนำลำไย 46/47”ยุค “แม้ว”เรืองอำนาจ ทำรัฐขาดทุนหลายพันล้าน แถมต้องเสียเงินทำลายทิ้งอีก 90 ล้านบาท แก้ปัญหาลำไยปลอมปน
หลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนลำไยภาคเหนือต้องเสียค่าโง่ เซ่นสังเวยกับการแก้ปัญหาลำไยของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีรูปธรรมที่เห็นชัดที่สุดก็คือ โครงการรับจำนำลำไยปี 46/47 ที่ล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบัน ต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดงบประมาณ 90 ล้านบาท ทำลายทิ้งมากถึง 4.6 หมื่นตัน แก้ปัญหาการลักลอบนำลำไยอบแห้งเก่ามาปลอมปน ทำให้รัฐบาลขาดทุนจากโครงการนี้มากกว่า 3 พันล้านบาท ทั้งยังมีกลุ่มผู้นำชุมชน ทั้งกำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน ตกเป็นผู้ต้องหาคดีทุจริตลำไย มากกว่า 5 พันคน
ขณะนี้ กำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูผลผลิตลำไย 52 ออกสู่ตลาด ซึ่งเบื้องต้นประเมินกันว่า จะมีผลผลิตทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 5 แสนตัน ทำให้หวั่นเกรงกันว่า ปัญหาราคาลำไยตกต่ำ จะเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม นำไปสู่การทุ่มเงินภาษีของประชาชนมาแก้ปัญหา จนเกิดการทุจริตขึ้นอีกครั้ง โดยล่าสุดแต่ละจังหวัดที่เป็นพื้นที่ปลูกลำไยกำลังเร่งวางแผนแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดกันอยู่
ที่จังหวัดเชียงราย สำนักงานสหกรณ์จังหวัด ได้ประชุมร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน เกษตรและสหกรณ์ จ.เชียงราย เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนรองรับผลผลิตลำไยในปีนี้ มีนายวิชัย ชัยกิตติพร สหกรณ์ จ.เชียงราย เป็นประธาน
ที่ประชุมแจ้งว่า ปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดทั่วประเทศประมาณ 500,000 ตัน และในส่วนของจ.เชียงราย น่าจะมีประมาณ 50,000 ตัน
การแก้ไขปัญหามีข้อสรุปว่า จะระบายผลผลิต 2 ลักษณะ คือ ส่งเสริมการจำหน่ายภายในประเทศ และส่งเสริมส่งออกไปต่างประเทศ โดยภายในประเทศ จะจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น จัดงานเทศกาลลำไย รวมทั้งให้กระจายลำไยออกสู่ตลาดนอก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนตามนโยบายของรัฐบาล
นายเกียรติภูมิ จินดาวงศ์ หัวหน้าพัฒนาธุรกิจสหกรณ์เชียงราย กล่าวว่า จะนำงบประมาณ 370 ล้านบาท ให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ผู้ประกอบการ สหกรณ์ ฯลฯ กู้นำไปจัดซื้อลำไยสดจากเกษตรกรและนำไปกระจายสู่ตลาดภายในประเทศ ให้ได้จำนวน 20,000 ตัน คิดดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี รวมทั้งยังจัดสรรอีกประมาณ 250 ล้านบาท ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยเดียวกันแก่สถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ที่ขึ้นทะเบียนไว้ต่อกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้นำลำไยสดจำนวนประมาณ 30,000 ตัน ไปแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งเตาละ 500,000 บาท และทำเป็นลำไยเนื้อสีทอง 3,000 ตันแห้ง
นอกจากนี้ยังมีงบประมาณอีก 199.05 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นค่าบริหารจัดการ และค่าขนส่งกิโลกรัมละ 2 บาทแก่เกษตรกรที่สามารถกระจายผลผลิตลำไยสดไปสู่ตลาดนอกเขต 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 60 ล้านบาท อีก 75 ล้านบาท สนับสนุนค่าขนส่ง กก.ละ 2.50 บาท กระจายลำไยออกไปสู่ตลาดนอกประเทศจำนวน 30,000 ตัน
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการเตือนให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องรับซื้อลำไยสดตามราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้โดยลำไยเกรดเอเอกำหนดรับซื้อกิโลกรัมละ 18 บาท เกรดเอกิโลกรัมละ 14 บาท เกรดบีกิโลกรัมละ 10 บาท เกรดซีกิโลกรัมละ 6 บาท ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2552
ส่วนที่เชียงใหม่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ก็มีการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหอการค้าจังหวัด โดยคาดว่า เชียงใหม่ จะมีผลผลิตมากถึง 1.78 แสนตัน
นายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุถึงแนวทางปฏิบัติตามแผนกระทรวงเกษตรฯ ว่า มีทั้งกระจายลำไยสดบริโภคในประเทศ และส่งออก การทำลำไยแปรรูปเนื้อสีทอง การทำลำไยกระป๋อง การทำลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ด้วยการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยต่ำและเงินทุนจ่ายขาดแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้เข้าร่วมโครงการ
ล่าสุดมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งในส่วนการขอกู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ การร่วมกระจายผลผลิตโดยรับเงินชดเชยค่าขนส่ง (ในประเทศ 2 บาทต่อ กก. และต่างประเทศ 2.5 บาท/กก.)
นอกจากนี้จังหวัดยังมีแผนที่จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมตลาดในประเทศ ด้วยการจัดพื้นที่ขายให้ผู้บริโภคที่กรุงเทพฯ – จัดคาราวานลำไยเชียงใหม่ ไปยังทั่วประเทศ โดยมีหอฯเชียงราย ร่วมดำเนินการ
“เชื่อว่า ปีนี้ไม่น่าจะเกิดปัญหาราคาลำไยตกต่ำ”
ขณะที่นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในการกระจายลำไยสดไปตลาดจีน ล่าสุดมียอดในมือแล้ว 600 ตัน แบ่งเป็นการส่งลำไยสดผ่านทางถนน R3a โดย หจก.PS Farm 400 ตัน และส่งออกไปยังตลาดเมืองชิงเต่า ของบริษัท เหอลี่ อิมปอร์ตแอนด์เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด 200 ตัน และการกระจายลำไยอบแห้งไปสู่ตลาดจีน จำนวน 25,000 ตัน รวมทั้งจะมีการกระจายลำไยสดสู่ตลาดภายในประเทศผ่านเครือข่ายของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 400 ตัน
ส่วนจังหวัดลำพูน นายประเทือง คงรอด ประธานกลุ่มพัฒนาผู้ปลูกลำไยส่งออก กล่าวว่า ยอมรับว่าการจัดการปัญหาลำไยปี 2545-47 เกิดการทุจริตอย่างมหาศาล ส่วนปีนี้ลำไยลำพูน คาดว่าจะมีผลผลิตออกมา 1.5 แสนตัน เบื้องต้นแนวทางแก้ปัญหายังเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงเกษตรฯกำหนด แต่ล่าสุดก็มีปัญหาในการปฏิบัติพอสมควร จนถึงวันนี้กรณีการกระจายผลผลิตยังมีผู้ได้รับอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพียง 2 ราย คือ สหกรณ์ GIP วงเงิน 1.5 ล้านบาท และกลุ่มเกษตรกรบ้านปวง อ.ทุ่งหัวช้าง วงเงิน 5 แสนบาทเท่านั้น
ส่วนการแปรรูปลำไยสีทอง มีวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วม 47 กลุ่ม การขอรับเงินทุนเตาอบแห้งลำไย เตาละ 3 แสนบาท จำนวน 235 ราย ขณะที่การทำลำไยกระป๋อง ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2 หมื่นตัน อาจจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประสานไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำผู้ประกอบการเข้าร่วมเลย ซึ่งกรณีนี้จะไปกระทบต่อผลผลิตลำไยรูดร่วง ที่จะให้กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ เข้ามาดำเนินการโดยการกู้เงินจาก ธ.ก.ส. แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ล้วนติดอยู่ในเครดิตบูโร ที่ไม่สามารถยื่นกู้สถาบันการเงินใด ๆ ได้
“ตอนนี้สถานการณ์ราคาลำไยในท้องตลาดเริ่มน่าเป็นห่วง เพราะเพิ่งเข้าสู่ช่วงต้นฤดู ราคาก็ตกลงอย่างต่อเนื่องวันละ 2-4 บาทเมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม ขนาดเอเอ ซื้อกั้นที่ 18-22 บาท/กก.. ขนาด เอ กก.ละ 14-16 บาท ขนาดบี กก.ละ 10-12 บาท ขนาดซี 8 บาท อีแป่ 6 บาท เนื่องจากผลผลิตไปกระจุกอยู่ที่ล้ง ทำให้ล้งสามารถกดราคาได้ง่าย ก็หวังว่าโครงการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนติดต่อผู้ซื้อจากเวียดนามเข้ามา ที่เริ่มเปิดจุดรับซื้อตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม จะช่วยกระตุ้นราคาลำไยในท้องตลาดขึ้นมาได้บ้าง ไม่ให้ตกต่ำไปมากกว่านี้”