กาฬสินธุ์ - ราคาอาหารสำเร็จรูปกุ้งก้ามกรามขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่จังหวัดกาฬสินธุ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ประสบปัญหาขาดทุน เผยยอดชาวนากุ้งหลายร้อยรายต้องเลิกกิจการแล้วหลังสู้ไม่ไหว ขณะที่ได้มีชาวนากุ้งบางรายหันไปผลิตอาหารใช้เอง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ผลมากกว่า 50%
นายเอกพงษ์ เหล่าก้อนคำ ชาวนากุ้งบ้านตูม หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ธุรกิจการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่เคยเฟื่องฟู มีพื้นที่ใช้ในการเลี้ยงนับ 10,000 ไร่ ทำให้กุ้งก้ามกรามได้ชื่อว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเคยสร้างรายได้ให้ชาวนากุ้งโดยรวมปีละนับร้อยล้านบาท แต่ปัจจุบันสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งซบเซามาก
เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น ทั้งค่าพันธุ์กุ้งที่นำมาเลี้ยง เฉลี่ยตัวละ 10-30 สตางค์ และค่าอาหารสำเร็จรูปถุงละ 610 บาท ต้นทุนที่ใช้ในการเลี้ยงไร่ละประมาณ 4 หมื่นบาท เป็นสาเหตุให้ชาวนากุ้งประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก จึงทยอยลดพื้นที่เลี้ยงลงเรื่อยๆ คาดว่าทั่วจังหวัดฯในปีนี้มีพื้นที่เลี้ยงกุ้งประมาณ 1,000 ไร่เท่านั้น
นายเอกพงษ์กล่าวว่า สำหรับตนที่ยังเลี้ยงกุ้งก้ามกรามต่อไป ได้คิดหาวิธีลดต้นทุนการเลี้ยงกุ้งด้วยการผลิตอาหารใช้เอง โดยหาวัตถุดิบและส่วนผสมที่หาได้ในพื้นที่ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เศษอาหาร รำข้าว และอาจจะซื้ออาหารหมู อาหารไก่ มาเป็นส่วนผสมด้วย จากนั้นนำมาเข้าเครื่องบดและอัดเม็ด ก่อนนำไปผึ่งแดดให้แห้ง ลงทุนครั้งละประมาณ 3,000 บาท ได้อาหารอัดเม็ดประมาณ 10 ถุง บรรจุถุงละ 25 กิโลกรัม หรือจำนวน 250 กิโลกรัม
ขณะที่หากนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้ออาหารสำเร็จรูปก็จะได้เพียง 5 ถุง และบรรจุน้อยกว่าเพียงถุงละ 20 กิโลกรัม หรือได้แค่ 100 กิโลกรัมเท่านั้น ฉะนั้น การผลิตอาหารกุ้งใช้เอง จึงเป็นการประหยัดรายจ่ายมากกว่า 50% และเป็นวิธีที่จะทำให้ธุรกิจการเลี้ยงกุ้งอยู่ได้ โดยจะไม่ต้องเสี่ยงกับการขาดทุนเหมือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชาวนากุ้ง จ.กาฬสินธุ์ กำลังเผชิญปัญหาหลายด้านทั้งค่าอาหารกุ้งแพง อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องน้ำเนื่องจากการก่อสร้างปรับปรุงเขื่อนลำปาวที่การส่งน้ำจะยังมีปัญหา รวมทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวนตลอดเวลา ที่ผ่านมีกุ้งของเกษตรกรน๊อคตายจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล หรือมีค่าชดเชยจากทางราชการแต่อย่างใด