กาฬสินธุ์ - พายุฤดูร้อนที่พัดกระหน่ำในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ติดต่อกันหลายวัน ส่งผลกระทบให้กุ้งก้ามกรามของชาวนากุ้ง จ.กาฬสินธุ์น็อคตายเป็นจำนวนมาก หลังปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศไม่ได้ เบื้องต้นมูลค่าความเสียหายหลายแสนบาท ขณะที่การเปลี่ยนถ่ายน้ำจากก้นคลองหลังจากที่เขื่อนลำปาวปิดการส่งน้ำ กลับไม่เป็นผล และวอนให้มีการปรับเปลี่ยนฤดูปิดน้ำ เพื่อป้องกันปัญหากุ้งน็อกตายซ้ำซาก
นายปกครอง นาสมบูรณ์ แกนนำเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้พี่น้องเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามกำลังได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากกุ้งก้ามกรามในบ่ออนุบาล และที่กำลังจะได้อายุจับจำหน่าย โดยลงทุนไปมากกว่าบ่อละ 3 หมื่นบาท กำลังน็อคตาย เนื่องจากไม่มีน้ำเปลี่ยนถ่าย
เพราะเขื่อนลำปาวที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนได้ปิดการส่งน้ำ ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในเวลากลางวัน และมีฝนตกในเวลากลางคืน ทำให้กุ้งปรับสภาพไม่ทัน จึงเกิดการน็อคตาย สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล ชาวนากุ้งหลายรายต่างประสบปัญหาขาดทุน เฉลี่ยแล้วในปีนี้หลังจากที่เขื่อนลำปาวเริ่มปิดน้ำ มีกุ้งน็อคตายไม่น้อยกว่าครึ่งตัน มูลค่าความเสียหายหลายแสนบาท บางคนต้องรีบจับกุ้งขนาดเล็กจำหน่ายในราคาถูก เพราะกลัวน็อคตายเสียก่อน
ขณะที่ นายเคน ภูนาชัย แกนนำเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ต.บัวบาน อ.ยางตลาด กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาซ้ำซาก ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทำให้ชาวนากุ้งฯประสบปัญหาขาดทุนตลอดมา ที่นอกจากจะต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูง ทั้งค่าอาหารและค่าพันธุ์กุ้ง ที่ขึ้นราคาจากปีที่ผ่านมาเกือบ 10% แล้ว ยิ่งมาเกิดปัญหาน็อคตายในช่วงที่กำลังจะจับจำหน่าย ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ต้องขาดทุนย่อยยับลงไปอีก สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล จากที่จำหน่ายกุ้งสดในราคา กก.ละ 160 บาท จำเป็นต้องจำหน่ายกุ้งตายให้พ่อค้าในราคาถูกเพียงกก.ละ 70 บาท
“ชาวนากุ้งเคยทำหนังสือถึงโครงการบำรุงและรักษาเขื่อนลำปาว เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนฤดูปิดน้ำ ที่จะปิดซ่อมบำรุงเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนปลายเดือนเม.ย.-ต้นเดือนมิ.ย. ที่เป็นช่วงที่อากาศวิปริต ประเดี๋ยวร้อนประเดี๋ยวฝนตก ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่เลวร้ายเป็นอันตรายต่อกุ้ง ที่ชอบอากาศเย็นและมีน้ำเปลี่ยนถ่ายทุกสัปดาห์ จึงอยากวอนให้โครงการเขื่อนลำปาวฯ พิจารณาปรับย้ายช่วงปิดน้ำเป็นฤดูหนาว หรือช่วงเดือน ธ.ค-ม.ค. ที่อากาศเย็นและจะไม่สร้างความเสียหายให้กับกุ้งก้ามกรามอย่างที่ผ่านมา โดยทุกวันนี้เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว ชาวนากุ้งต้องสูบน้ำจากก้นคลองเพื่อบรรเทาปัญหา บางครั้งถึงกับเกิดข้อพิพาทเพราะแย่งน้ำกันใช้” นายเคนกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพื้นที่การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่เคยเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งฯ ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าในฤดูกาลผลิตปีนี้พื้นที่ลดลงไปมากกว่า 50% ทั้งนี้ เนื่องจากประสบปัญหาค่าพันธุ์กุ้งและค่าอาหาร ที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรสู้ราคาต้นทุนการผลิตไม่ไหว จึงล้มเลิกกิจการไป
ในขณะที่กลุ่มที่ยังเลี้ยงอยู่ต้องประสบปัญหากุ้งน็อกตาย จากการปิดน้ำของเขื่อนลำปาว สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล โดยความสูญเสียเฉลี่ยกว่าปีละ 20 ล้านบาท ซึ่งปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง จึงยังเป็นปัญหาที่ชาวนากุ้งต้องแบกรับกันต่อไป